พระบัณฑิตวิทยาลัยศาสนศึกษาฟื้นชุมชน-สร้างพื้นที่แห่งสันติภาพ – เ มื่อกล่าวถึง “พื้นที่ปลอดภัย” ส่วนใหญ่จะนึกถึงพื้นที่เพื่อการแสดงออกทางการเมือง แต่พื้นที่แห่งสันติภาพ จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อการลดความขัดแย้งและสร้างสุข เพื่อการอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข และสันติภาพ

กว่า 5 ปีในการเป็นพระวิทยากรบัณฑิตอาสา วิทยาลัยศาสนศึกษา ม.มหิดล อบรมธรรมะเยาวชนเชิงสร้างสรรค์ พระสุมินทร์ อินตะจักร หรือ หลวงพี่มิน หัวหน้าทีมพระวิทยากรธรรมะทูเดย์ พระบัณฑิตอาสา วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ได้นำเอาประสบการณ์ที่ได้จากการใช้พื้นที่ทำกิจกรรมอบรมเยาวชน ณ บ้านพี่สอนน้อง แห่งชุมชนหมู่บ้านต้นลำไย ต.บ้านใหม่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี มาทำวิจัยเรื่องการพัฒนาธรรมะสถานสาธารณะ บ้านพี่สอนน้อง เพื่อสันติภาพ กรณีศึกษาบ้านพี่สอนน้อง ต.บ้านใหม่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

โดยมี ผศ.ชิตชยางค์ ยมาภัย อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา หลวงพี่มิน นำเสนอผลงานการวิจัยดังกล่าวใน การประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 17 เมื่อเร็วๆ นี้ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม

ธรรมะสถานสาธารณะชุมชน “บ้านพี่สอนน้อง” ตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 โดย พระครูสังฆภารพิสิฏฐ์ (พระอาจารย์มาโนช ธัมมครุโก) ซึ่งได้แนวคิดจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) พระอุปัชฌาย์ ปราชญ์ของไทย โดยจัดสร้างบนพื้นที่บ้านเกิดของพระอาจารย์มาโนชเอง เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับเยาวชนในชุมชน ซึ่งหลวงพี่มินได้มีโอกาสใช้อบรมเยาวชนธรรมะทูเดย์ ตั้งแต่ริเริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน

ด้วยหลัก มัจฉริยะ 5 ที่ว่าด้วยความตระหนี่หวงแหน และ ปปัญจธรรม 3 ที่ทำให้ค้นพบว่าเมื่อเราปราศจากความตระหนี่หวงแหน รักเพื่อนมนุษย์โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นใคร นับถือศาสนาอะไร เราจะอยู่ด้วยกันได้อย่างสันติสุขและสันติภาพ เป็นหลักการของบ้านพี่สอนน้อง ในการสร้างพื้นที่สาธารณะแห่งสันติภาพและสันติสุข ที่ใช้ความดีงามมาสร้างให้ผู้คนอยู่ด้วยกันด้วยความรัก ความเมตตา เกื้อกูล แบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุขและสันติภาพ

บ้านพี่สอนน้อง นอกจากเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับเยาวชนแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมสิ่งของบริจาคเพื่อเยาวชนที่ขาดแคลนปัจจัยต่างๆ ซึ่งกรณีศึกษาจากแนวคิดในการจัดสร้างบ้านพี่สอนน้อง หลวงพี่มิน ในฐานะผู้วิจัย หวังจะให้เป็นต้นแบบในการสร้างพื้นที่แห่งสันติภาพให้กับสังคมไทย และสังคมโลกต่อไป

ซึ่งพื้นที่แห่งสันติภาพ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่สิ่งปลูกสร้าง แต่ยังสามารถทำได้บนพื้นที่ออนไลน์ ซึ่งจากช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา หลวงพี่มินริเริ่มใช้สื่อ TikTok เพื่อเผยแผ่ธรรมะแก่เยาวชน ด้วยคลิปคำคมแนวคิดต่างๆ ที่สร้างรอยยิ้ม แต่แฝงด้วยธรรมะ ซึ่งบางคลิปได้รับความสนใจถึง 6 ล้านวิวภายในเพียงวันเดียว ปัจจุบันขยายกลุ่มเป้าหมายไปที่วัยผู้ใหญ่ด้วย จนมีผู้ติดตามกว่าแสนราย

มาถึงช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเข้มข้นอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงปีใหม่ พ.ศ.2564 จนถึงขณะนี้

หลวงพี่มินกล่าวฝากทิ้งท้ายขอให้ทุกคนมีกำลังใจ และพร้อมสู้ “ไม่ว่าล้มหรือลุก อย่าเพิ่งไปทุกข์กับชีวิต ถูกหรือผิด อย่าไปคิดหนีปัญหา ดีหรือแย่ อย่าเพิ่งไปแคร์คนนินทา ชมหรือด่า อย่าไปเก็บมาให้เจ็บใจ เพื่อจะได้เดินหน้าไปด้วยกันอย่างสันติสุขและสันติภาพต่อไป”

ติดตามกิจกรรมที่น่าสนใจ และสื่อสร้างสรรค์เชิงธรรมะได้ที่ FB : ธรรมะทูเดย์ บัณฑิตอาสาวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน