94 พรรษาสมเด็จพระสังฆราช – มงคลสมัยแห่งวันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้เวียนมาบรรจบครบอีกกาลหนึ่งในวันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน 2564 ปีนี้องค์สังฆบิดรทรงเจริญพระชนมายุครบ 94 พรรษา ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วไปต่างรำลึกถึงรอยแย้มพระสรวลอยู่เป็นนิจ และรำลึกถึงพระสัทธรรม ที่เจ้าประคุณสมเด็จ มีพระเมตตาประทานให้ในวาระต่างๆ ทั้งยามสุขและทุกข์ ทั้ง พระจริยวัตรและพระธรรมคำสอนก็เปรียบเสมือนกระจกเงา ที่ฉายชัดถึงพระเมตตา พระกรุณาที่ทรงมีต่อคนไทยและเทศ อย่างไม่เลือกเพศ วัย และชั้นวรรณะ

พระประวัติ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จ พระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2470 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี พระชนกชื่อนับ ประสัตถพงศ์ พระชนนีชื่อตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย ทรงเป็นบุตร คนที่ 2 จากพี่น้องทั้งหมด 9 คน ทรงเริ่มต้นศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ตำบลโคก กะเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 แล้วมาศึกษาต่อที่โรงเรียนประชาบาลวัดพเนินพลู อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในปี พ.ศ.2480

พ.ศ.2483 ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดสัตนารถปริวัตรวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วย้ายไปอยู่วัดตรีญาติเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ต่อมาวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2491 ทรงอุปสมบท ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีพระเทพโมลี (วาสน์ วาสโน) (ต่อมาคือสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

แล้วพุทธศักราช 2562 ทรงเฉลิมพระอัฐิเป็นสมเด็จพระสังฆราช เจ้ากรมหลวงชินวราลงกรณ) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินตากโร) (สมณศักดิ์สูงสุดคือสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี อดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จนสามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค เมื่อ พ.ศ.2491

และสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค เมื่อพ.ศ.2493 หลังได้เปรียญธรรม 5 ประโยคแล้ว พระองค์ได้ทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นรุ่นที่ 5 ในสาขาศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อ พ.ศ.2500 และทรงเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อ พ.ศ.2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

ในช่วง พ.ศ.2516 ทรงเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ ประเทศเครือรัฐออสเตรเลีย นับเป็นพระธรรมทูตไปต่างประเทศรุ่นแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุต ที่ได้วางรากฐานพระพุทธศาสนา ตลอดถึงเป็นเนติให้สหธรรมิกที่มา ภายหลังได้เผยแผ่อย่างเป็นรูปแบบ ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีความมั่นคง มีวัดและพระสงฆ์อยู่ประจำรัฐแห่งนี้ ก่อนขยายไปยังเมืองใหญ่อีกหลายเมือง อาทิ กรุงแคนเบอร์รา นครเมลเบิร์น และเมืองดาร์วิน เป็นต้น ส่วนงานการสอนภายในประเทศนั้น ทรงเป็นอาจารย์สอนธรรมวินัยแก่พระภิกษุ-สามเณร เป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรมและ แผนกบาลี และดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) เป็นต้น

ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ. 2514 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระปริยัติกวี

พ.ศ.2524 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสารสุธี

พ.ศ.2533 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเมธาภรณ์

พ.ศ.2538 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมเมธาภรณ์

พ.ศ.2543 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏที่ พระสาสนโสภณ วิมลญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูษิต ธรรมนิตยสารท ศาสนกิจจานุกร ธรรมยุติกคณิสสรบวรสังฆาราม คามวาสี

ต่อมาวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2552 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรด สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวร สังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร มีฐานานุศักดิ์ ตั้งฐานานุกรมได้ 10 รูป

ครั้นวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 สมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชโองการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีสถาปนา เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 เวลา 16.50 น. ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

หลังจากทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จ พระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกแล้ว ทรงเอาพระทัยใส่ในการเผยแพร่พระสัทธรรมของสมเด็จพระบรมศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เป็นนิจ ได้ประทานพระวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆ เข้าเฝ้า และประทานพระคติธรรมในวาระสำคัญต่างๆ เสมอ ทรงสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาทั้งของพระภิกษุสงฆ์และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ได้ประทานพระดำริ หาทางช่วยเหลือบุคคลผู้มีโอกาสน้อยกว่าหรือประสบภัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะโรคระบาดโควิด-19 นั้นก็ได้ประทานพระดำริให้วัดต่างๆ จัดตั้งโรงทาน เพื่อเป็นที่จัดหาอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมอบแก่ประชาชนในชุมชนหมู่บ้านต่างๆ นับเป็นโครงการตามพระดำริที่สำคัญที่มีส่วนช่วยให้มีการจัดระเบียบและผ่อนคลายความทุกข์ร้อนของประชาชนได้

โครงการตามพระดำริเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19

เมื่อสถานการณ์โรคระบาดทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น พระภิกษุสงฆ์ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับประชาชนทั้งหมด แต่อย่างไรก็ดี สมเด็จพระอริย วงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ประทานพระดำริว่า แต่เดิมมานั้นวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ไม่ใช่เป็นเพียงที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น แต่ยังต้องเป็นสถานสงเคราะห์ในยามยากด้วย จึงประทานพระดำริให้วัดที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะอนุเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบความยากลำบาก ทั้งอาหารการกิน และเครื่องอุปโภคบริโภค

จัดตั้งโรงทานตามพระดำริขึ้น ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและในจังหวัดต่างๆ ทั้งประเทศ ซึ่งรวมจำนวนวัดต่างๆ ที่ร่วมมือในการจัดตั้งโรงทานถึง 914 แห่ง ทั่วประเทศ ดังที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) ได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ในหนังสือเมตตาธรรมพิสุทธิ์แล้ว

นอกจากพระดำริในการจัดตั้งโรงทาน สมเด็จพระสังฆราชได้ประทานเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัวแก่วัดต่างๆ ทั่วประเทศที่มีที่ดิน โดยให้ใช้พื้นที่ดินของวัดในการรณรงค์ให้ชาวบ้านใกล้เคียงเพาะปลูกพืชพันธุ์ผักในครัวเรือนเพื่อยังชีพ เป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และสามารถนำไปแบ่งปันผู้อื่นได้ นอกจากนั้นยังไปประทานสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ แก่พระภิกษุสงฆ์สามเณร และฆราวาสทั่วประเทศอีกด้วย

โครงการจัดสร้างสถานปฏิบัติธรรมฯ

ในมงคลกาลที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 8 รอบ ในพุทธศักราช 2566 นางธัญรัศมิ์ นันธนวัฒน์ และครอบครัว ได้น้อมถวายที่ดิน ณ ตำบลลำลูกกา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และต่อมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามได้จัดซื้อที่ดินอีกจำนวนหนึ่ง รวมพื้นที่ทั้งหมด 127 ไร่ เพื่อจัดสร้างเป็นสถานปฏิบัติธรรม

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงอนุโมทนาในกุศลกิจครั้ง ยิ่งใหญ่นี้ และประทานพระอนุญาตให้เชิญพระนามของพระองค์ เป็นนามของสถานปฏิบัติธรรมว่า “สถานปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร)”

สถานปฏิบัติธรรมนี้มีพื้นที่รวม 127 ไร่ ตั้งอยู่ที่คลอง 9 อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นรมณียสถาน อันสัปปายะต่อการบำเพ็ญสมณธรรม และเจริญจิตตภาวนา ทั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้พระพุทธศาสนาสำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วไป ภายใต้แนวคิดความเป็นหนึ่งเดียวกันของธรรมะและธรรมชาติ เน้นการก่อสร้างที่เรียบง่ายกลมกลืนกับธรรมชาติ สวนป่า เพื่อความสุนทรียะ และความสงบของการบำเพ็ญธรรม อาคาร สิ่งก่อสร้างในบริเวณสถานปฏิบัติธรรมล้วนแล้วแต่ออกแบบให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เน้นความร่มเย็นของสวนป่า-น้ำ

สถาปัตยกรรมเป็นแบบเรียบง่ายในรูปแบบศิลปกรรมไทยประยุกต์แต่ยังมีศิลปะที่คล้ายคลึงกับศิลปกรรมของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ทั้งนี้ เพื่อให้มีเอกลักษณ์และกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม เจริญจิตตภาวนาของพุทธศาสนิกชนทุกวัย เน้นประโยชน์ใช้สอย นอกจากนี้ยังจัดแบ่งพื้นที่ของสถานปฏิบัติธรรมใช้เป็นพื้นที่แปลงเกษตรสาธิต และพื้นที่แปลงเกษตร ผสมผสาน เพื่อเป็นการพึ่งพาตนเองที่สอดคล้องกับธรรมะ

การดำเนินการก่อสร้างสถานปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) ดำเนินการไปตามลำดับ โดยสมเด็จพระอริย วงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จพระดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ ณ บริเวณพื้นที่จัดสร้างสถานปฏิบัติธรรม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2563 ครั้นการเตรียมปรับพื้นที่แล้วเสร็จโปรด ให้เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อคฺคชินเถร) ผู้ช่วย เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เลขานุการสมเด็จ พระสังฆราช เป็นประธานในพิธีลงเสาเอก เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 29 เมษายน พุทธศักราช 2564

ในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบูชา ปูชนียมงคลที่ระลึก และบริจาคสมทบทุนโครงการจัดสร้าง สถานปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) เพื่อ ความไพบูลย์และความงอกงามของจิตใจได้

โดยสามารถบริจาคได้ที่บัญชี วัดราชบพิธเพื่อสร้างสถานปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพร มหาเถร) คลอง 9 จังหวัดปทุมธานี ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนเฟื่องนคร เลขที่บัญชี 159-0-10328-9 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตรีเพชร เลขที่บัญชี 006-2-89900-5 หรือธนาคารออมสิน สาขามหาดไทย เลขที่บัญชี 020-284356-654 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร.09-9141-6465, 09-5649-4514 และที่เฟซบุ๊กสมโภช 150 ปี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ร่วมบำเพ็ญบุญ เสริมสร้างบารมี และเจริญจิตตภาวนา ขอสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จ พระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจริญพระชนม์ยิ่งยืนนาน ทรงเป็นหลักแห่งพระพุทธศาสนาตราบนานเท่านั้น

ทีฆายุโก โหตุ มหาสังฆราชา

รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี

ศิษย์เก่าโรงเรียนวัดราชบพิธ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน