“ศีล 5 หรือศีลอื่นๆ มีความเกี่ยวพันต่อการปฏิบัติสมาธิอย่างมาก ศีลเป็นการปรับพื้นฐาน ปรับโทษทางกายวาจา ซึ่งเปรียบเสมือนเปลือกไข่ ส่วนใจเปรียบเหมือนไข่แดง” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

“พระครูเกษมธรรมนันท์” หรือ “หลวงพ่อแช่ม ฐานุสสโก” อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม อ.เมือง จ.นครปฐม ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ รวมทั้งพุทธาคมจากหลวงพ่อเงิน เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม

วัตถุมงคลได้รับความนิยม มีราคาเช่าบูชากันสูงมาก โดยเฉพาะเหรียญรุ่นแรกจัดสร้างในโอกาสฉลองสมณศักดิ์และได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ รวมทั้งฉลองอายุครบ 67 ปี เมื่อปี พ.ศ.2515

หลังสร้างเสร็จได้ประกอบพิธีปลุกเสกอยู่เป็นเวลา 1 ปี จึงนำออกมาแจกเป็นที่ระลึก ในปี พ.ศ.2516 มีจำนวนการจัดสร้างทั้งสิ้น 1,821 เหรียญ แบ่งเป็นเหรียญเนื้อสำริด 21 เหรียญ และเหรียญเนื้อทองแดง 1,800 เหรียญ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูห่วง

ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อแช่ม ครึ่งองค์นูนต่ำ ใต้ฐานรูปเหมือนมีตัวเลข “๖๗” ปั๊มลงในเนื้อเหรียญ เป็นการตอกโค้ดเลข ๖๗ ตามอายุของท่าน

ขอบเหรียญด้านหน้าเป็น 2 ชั้น รอบเหรียญระบุคำว่า “พระครูปลัดแช่ม วัดดอนยายหอม อายุครบ ๖๗ ปี ๒๕๑๕” ส่วนด้านหลังเหรียญ ลงอักขระยันต์ นับเป็นเหรียญหายากอีกเหรียญ

หลวงพ่อสุด สิริธโร หรือพระครูสมุทรธรรมสุนทร อดีตเจ้าอาวาสวัดกาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วจากการเป็นพระอาจารย์ของตี๋ใหญ่ จอมโจรชื่อดังในอดีต เหรียญรุ่นปี 2506 หลังยันต์ตะกร้อ

จัดสร้างขึ้นไว้เป็นที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมา เนื้อทองแดง ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ มีหู ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อสุดครึ่งองค์หันหน้าตรง จารึกข้อความ “พระครูสมุทรธรรมสุนทร วัดกาหลง จ.สมุทรสาคร” จากมุมซ้ายบนและขวา

ด้านหลังเหรียญ ตรงเป็นยันต์ตะกร้อประจำตัว และอักขระคาถาอาคม ด้านบนยันต์เขียนคำว่า “งานผูกพัทธสีมา” ใต้ยันต์เขียนตัวเลข “๒๕๐๖” ปัจจุบันเหรียญรุ่นนี้หายาก

“หลวงปู่เอี่ยม สุวัณณสโร” เจ้าอาวาสวัดหนังราชวรวิหาร เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ พระเกจิดังแห่งเมืองกรุง วัตถุมงคลที่สร้างชื่อเสียง โดยเฉพาะเหรียญพิมพ์ทรงยันต์สี่ เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นเพื่อปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญจัดสร้างปี พ.ศ.2467

ลักษณะเป็นเหรียญรูปใบเสมา มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปหลวงปู่เอี่ยม นั่งขัดสมาธิบนธรรมาสน์ ขอบเหรียญด้านซ้ายมือเขียนคำว่า “ปีมะโรง จัตวาศก” และขอบเหรียญด้านขวาเขียนคำว่า “วัน ๖ เดือน ๑๑”

ด้านหลังเหรียญ เป็นรูปยันต์สี่ ขอบเหรียญเป็นจุดไข่ปลา ล้อมรอบด้วยลายกนก เหรียญรุ่นยันต์สี่กับเหรียญรุ่นยันต์ห้า มีลักษณะคล้ายกัน แตกต่างตรงด้านหลังเหรียญรุ่นยันต์ห้า เป็นยันต์พระปถมังแบบยันต์ห้า

อีกทั้งเหรียญรุ่นยันต์ห้า จัดสร้างในปี พ.ศ.2469 ก่อนจะมรณภาพเพียง 3 เดือน

อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน