พระราชภาวนาวชิรากร วัดป่านาคำน้อย จ.อุดรธานี : มงคลข่าวสด

วันที่ 8 ก.ค.2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระอธิการอินทร์ถวาย สันตุสสโก เป็น พระราชภาวนาวชิรากร สุนทรญาณวรกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สถิต ณ วัดอุดมมงคลวนาราม จังหวัดอุดรธานี มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค.2564 ประกาศ ณ วันที่ 8 ก.ค.2564 เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระราชภาวนาวชิรากร (อินทร์ถวาย สันตุสสโก) สิริอายุ 76 ปี พรรษา 56 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอุดมมงคลวนาราม (วัดป่านาคำน้อย) ต.บ้านก้อง อ.นายูง จ.อุดรธานี

มีนามเดิมว่า อินทร์ถวาย ผิวขำ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 27 เม.ย.2488 ที่บ้านหนองแวง ต.หนองสูงใต้ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร บิดา-มารดาชื่อ นายพ่อและนางจอมแก้ว ผิวขำ ท่านเป็นบุตรคนที่ 6 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 7 คน

เข้าพิธีบรรพชา ขณะมีอายุ 11 ปี ที่วัดกลางสนาม ต.กลางสนาม อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร เมื่อปี พ.ศ.2500 โดยมีหลวงปู่กงแก้ว ขันติโก เป็นพระอุปัชฌาย์

ไปอยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่หล้า เขมปัตโต ที่วัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ) ต.หนองตูมใต้ อ.หนองสูง เป็นระยะเวลาทั้งหมด 9 ปี

ต่อมาเข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดป่าศิลาวิเวก ต.ป่าศิลาวิเวก อ.เมือง จ.มุกดาหาร เมื่อปี พ.ศ.2508 โดยมีหลวงปู่คำ คัมภีรญาโณ เป็นพระอุปัชฌาย์

พรรษาแรกอยู่จำพรรษากับหลวงปู่หล้า เขมปัตโต ที่วัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ) อีกหนึ่งพรรษา

หลังจากนั้นไปอยู่จำพรรษากับหลวงปู่จาม มหาปุญโญ ที่วัดป่าวิเวกวัฒนาราม อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร 1 พรรษา ติดตามขึ้นไปจังหวัดเชียงใหม่ และไปอยู่จำพรรษากับหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ที่วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ เป็นเวลา 1 พรรษา

กลับลงมาอยู่จำพรรษาอีกครั้งหนึ่งกับหลวงปู่จาม ที่วัดป่าวิเวกวัฒนาราม

หลังจากนั้นช่วงปี พ.ศ.2512-2525 ได้ไปอยู่จำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี กับหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ช่วงออกพรรษา กราบลาหลวงตามหาบัว แสวงหาความสงบวิเวกในแถบจังหวัดเลย อุดรธานี และหนองคาย

ต่อมาในราวปี พ.ศ.2523 เห็นว่าสถานที่ตั้งวัดป่านาคำน้อย ในปัจจุบัน เป็นสถานที่สัปปายะเหมาะสำหรับการภาวนาเป็นยิ่งนัก จึงได้ร่วมกับชาวบ้านช่วยกันจัดตั้งเป็นวัด และได้พัฒนาให้มีความเจริญสืบเนื่องเป็นลำดับมา อำนวยประโยชน์สมตามปณิธาน ที่จะให้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานฝึกอบรมทั้งทางร่างกาย (ศีลธรรม) และจิตใจ (จริยธรรม) ให้เป็นผู้สมบูรณ์ทั้งทางด้านวิชชาและจรณะควบคู่กันไป

เมื่อวัดได้รับการพัฒนาในขอบเขตที่พอเป็นไป จึงให้ความสนใจงานสาธารณสุข และงานการศึกษาเป็นพิเศษ โดยร่วมกับชาวบ้านร่วมประกอบงานอันเป็นสาธารณประโยชน์ เช่น การก่อสร้างอาคารพยาบาล จัดหาเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ แก่โรงพยาบาลหลายแห่ง ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด อาคารเรียน ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ ทั้งโรงเรียนมัธยม และประถมศึกษา

นอกจากนี้ จัดตั้งเป็นมูลนิธิและกองทุนเพื่อดูแลพระภิกษุ-สามเณร แม่ชีอาพาธ ให้ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง เป็นมูลค่าทั้งโครงการ (การตกแต่งหอสงฆ์ การจัดหาเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และการจัดตั้งเป็นมูลนิธิและกองทุน) รวมปัจจัยทั้งสิ้น 50 ล้านบาท

กระทั่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นประกาศเกียรติคุณให้เป็นบุคคลดีเด่น เพื่อเข้ารับพระราชทานถวายรางวัลพระธาตุพนมทองคำ ประจำปี พ.ศ.2550 จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2550

พ.ศ.2551 ชักชวนและร่วมกับพุทธบริษัท ก่อสร้างเจดีย์มหามงคลบัว จ.ร้อยเอ็ด เพื่อเป็นมงคลเจดียสถาน อันเป็นอนุสรณ์รำลึกแสดงถึงความกตัญญูกตเวทิตาของเหล่าศิษย์ ถวายแด่หลวงตาพระมหาบัว

ล่าสุด วันที่ 7 ก.ค.2564 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชภาวนาวชิรากร

“ชีวิตของคนเรามันไม่มีอะไรแน่นอนทั้งหมด อีกสักวันหนึ่งก็จะต้องตายจากกัน ถึงจะรัก จะเกลียด โกรธขนาดไหนก็เถอะ อีกสักวันหนึ่งก็ไปคนละทิศคนละทาง ไปตามบุญกรรมของแต่ละคน เกิดภพหน้าชาติหน้าก็ลืมหลง เกิดขึ้นมาเสาะแสวงหาอีก หลงกันอีก เป็นวัฏฏะวน ไม่มีที่สิ้นสุดวกวนไป วกวนมาอยู่อย่างนี้”

เป็นโอวาทธรรมที่น่าคิดตริตรอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน