“เมื่อมีความตั้งใจ กำหนดจิตของเราเองอาการกำหนดรู้ รู้ตัวนั้นเป็นพุทธะ ซึ่งออกมาจากคำว่า พุทโธ ที่เราท่องบริกรรมภาวนา อยู่” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

พระพิมพ์ห่มคลุม ในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงสร้างไว้สำหรับแจกเป็นที่ระลึก ทั้งเชื้อพระวงศ์และคนสนิทละแวกวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งในตำราหรือหนังสือพระเครื่องหลายเล่มล้วนมีการกล่าวถึง พบว่ามีทั้งเนื้อทองคำเนื้อเงิน เนื้อสำริดเหลืองและแดง

ต่อมาในสมัยพระพรหมมุนี (ผิน) วัดบวรนิเวศ จัดสร้างไว้แจกผู้ที่มากราบนมัสการท่าน เป็นพิมพ์จิ๋ว พ.ศ.2498 พระส่วนใหญ่จะลงรักปิดทอง พิมพ์จิ๋ว 2498 ถอดพิมพ์มาจากของเดิม สมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทุกองค์เหมือนเดิม มีรอยตะไบใต้ก้น

ในปี พ.ศ.2559 พระมหานพพลโกวิโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัด หนองหลวง อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ จัดสร้างวัตถุมงคล “เหรียญหลวงพ่อเดิม 156 ปี ชาตกาล” หรือเรียกว่า “รุ่นเดิมบันดาลทรัพย์” เพื่อหารายได้บูรณะศาลาการเปรียญวัดหนองหลวง มี พยัพ คำพันธ์ุ นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย เป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ หูห่วงตัน ด้านหน้าเหรียญ มีขอบรอบ ตรงกลางเหรียญเป็นรูปนูนหลวงพ่อเดิม ครึ่งองค์ หน้าตรง ใต้ขอบบนมีอักขระขอม เหนือขอบด้านล่างมีอักษรไทย “พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (เดิม)” ด้านหลังเหรียญ มีขอบรอบเช่นกัน ตรงกลางเหรียญเป็นยันต์ห้า กำกับด้วยอักขระขอมด้านล่าง 1 แถวด้านล่างมีอักษรไทย “วัดหนองหลวง พ.ศ.๒๕๕๙” คั่นด้วย “ดอกจัน” รอบเหรียญมีอักษรไทย “สิทธิกิจจํ สิทธิกัมมํ สิทธิลาโภ ชโยนิจจํ ๑๕๖ ปี ชาตกาล” เป็นวัตถุมงคลที่ควรค่าแก่การบูชา

“หลวงพ่อบ๊ก” หรือ“พระอธิการสุวรรณ กัลยาณี” อดีตเจ้าอาวาส วัดเนินพยอม อ.หนองขาหย่าง จ.อุทัยธานี เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังรูปหนึ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง ในช่วงปี พ.ศ.2518 หลวงพ่อบ๊กได้ดำเนินการซ่อมแซมพระอุโบสถวัดเนินพยอม และอนุญาตให้ นายเฉลิม บุญแจ้ง จัดสร้างเหรียญใบตำลึง รุ่น 1 จำนวน 500 เหรียญ เป็นเนื้อทองแดงรมดำ เนื้อเดียว ปลุกเสกเดี่ยวตลอดไตรมาส

ลักษณะของเหรียญรุ่นนี้เป็นเหรียญใบตำลึง หรือเหรียญหยดน้ำ มีหูห่วงในตัว ด้านหน้าเหรียญ มีขอบเหรียญเป็นลายกนกล้อมรอบ กลางเหรียญเป็นรูปนูนหลวงพ่อบ๊กครึ่งองค์ ใต้องค์พระมีอักษรไทย เขียนว่า “หลวงพ่อบ๊ก กลฺยาณี รุ่น ๑”

ด้านหลังเหรียญ มีขอบ ตรงกลางเป็นยันต์ห้า มีอุณาโลมกำกับ ทั้ง 3 ยอด ภายในยันต์บรรจุอักขระขอม เหนือขอบเหรียญด้านล่างใต้ยันต์ มีอักษรไทยเขียนว่า “ที่ระลึกในงานซ่อมแซมพระอุโบสถปี ๒๕๑๘” ได้รับความนิยมในพื้นที่เมืองอุทัยธานี

อริยะ เผดียงธรรม

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน