“ช่วงที่สำคัญที่สุดก็คือ ลมหายใจแผ่ว เพราะเป็นอาการของจิตที่สงบละเอียดลงไปเรื่อย กายก็ละเอียด ลมหายใจก็ละเอียด จนกระทั่งลมหายใจหายวับไป กายก็หายไปด้วยจิตไปนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

“หลวงปู่เหลา จุนโท” อดีตเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม (ธ) วัตถุมงคลเท่าที่สืบค้นพบมีเพียงรุ่นเดียว แต่ได้รับความนิยมอย่างมาก คือ เหรียญรูปเหมือนจัดสร้างในปีพ.ศ.2500 คณะศิษย์จัดสร้างถวายในวาระที่สิริอายุครบ 55 ปี

ลักษณะเป็นเหรียญรูปคล้ายใบเสมา เนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่เกิน 3,000 เหรียญ

ด้านหน้ายกขอบสองชั้น ตรงกลางเป็น รูปเหมือนหันหน้าตรง ด้านบนรูปเหมือนมีอักษรเขียนคำว่า “วัดประชาบำรุง” ใต้รูปเหมือนเขียนคำว่า “พระโพธิญาณมุนี จนฺทเถร” ด้านหลังไม่มีขอบเหรียญ ตรงกลางเป็นอักขระยันต์ หุ่นมนุษย์ หัวใจธาตุทั้ง 4 และหัวใจพระเจ้า 5 พระองค์ ล่างสุดมีอักษรเขียนคำว่า “ศิษย์สร้าง” และ (พ) น่าจะหมายถึงตัวย่อสมณศักดิ์

“หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม” อดีตเจ้าอาวาสวัดป่า อรัญญวิเวก ต.บ้านข่า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ทั้งนี้ ก่อนมรณภาพ 1 ปี ในปี พ.ศ.2516 กองบัญชาการทหารสูงสุด จัดสร้างวัตถุมงคลเป็น “เหรียญหลวงปู่ตื้อ รุ่น พ.ศ.2516” เพื่อไว้แจกจ่ายกำลังพลในหน่วย เซียนพระเรียกขานรุ่นนี้ว่า “เหรียญหลังบาตร”

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูห่วง ขอบเหรียญมีเส้นสันนูน จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงรมดำ แต่ไม่ทราบจำนวนที่จัดสร้างแน่ชัด ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเหรียญมีรูปเหมือนห้อยลูกประคำนั่งขัดสมาธิบนอาสนะ บริเวณ อังสะตอกโค้ดตัว ต คล้ายเลข ๓ ไทย หมายถึง ตื้อ ด้านล่างสลักคำว่า หลวงพ่อตื้อ อจลธมฺโม ด้านหลังเหรียญ มีเส้น สันขอบหนา ใต้หูห่วงมีชุดอัฐบริขาร ประกอบด้วย บาตร ร่ม และกาน้ำ ถัดลงมาสลักอักขระ 3 บรรทัด ใกล้ขอบเหรียญ จากซ้ายไปขวาสลักตัวหนังสือคำว่า วัดป่าอรัญญวิเวก บ้านข่า ต.ท่าบ่อ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เหรียญรุ่นนี้ หลวงปูตื้ออธิษฐานปลุกเสกเดี่ยว หาได้ยากแล้ว

ย้อนไปวันที่ 6 พ.ย. 2547 “พระครูจันทสิริธร” หรือ “หลวงพ่อสารันต์ จันทูปโม” เจ้าอาวาสวัดดงน้อย ต.กกโก อ.เมือง จ.ลพบุรี พระเกจิชื่อดัง จัดสร้างวัตถุมงคล เป็นเหรียญวางศิลาฤกษ์องค์พระเจดีย์ ธรรมสถานเฉลิมพระเกียรติเขาเตียน ต.วังเพลิง อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ลักษณะเป็นเหรียญกลม (ใหญ่) ไม่มีหูห่วง ด้านหน้ามีขอบรอบ 2 ชั้น ตรงกลางเป็นรูปนูน หลวงพ่อสารันต์ นั่งสมาธิเต็มองค์ มีอักขระขอมพระคาถา “อิ ติ ปิ โส” ล้อมรอบ ที่ขอบเหรียญมีอักขระขอมรอบเหรียญ ด้านหลังเหรียญ มีขอบรอบ 2 ชั้น ตรงกลางเป็นรูปนูนองค์พระเจดีย์ มีอักขระขอมรอบ ส่วนรอบขอบเหรียญมีอักขระขอม “พระคาถาบารมีสิบทัศ” เป็นอีกเหรียญที่ทรงคุณค่า

อริยะ เผดียงธรรม

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน