มงคลข่าวสด

เมืองเพชรบุรี มีพระเกจิคณาจารย์ที่ครองธรรมขั้นสูงดำรงชีวิตด้วยความเมตตากรุณา เป็นที่พึ่งทางใจ อาทิ หลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม, หลวงพ่ออ่อน วัดท้ายตลาด, หลวงพ่อแก้ว วัดปากทะเล, หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ, หลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง, หลวงพ่อจ่าง วัดเขื่อนเพชร, หลวงพ่ออุ้น วัดตาลกง, หลวงพ่อตัด วัดชายนา เป็นต้น

ล่วงสมัยกาลปัจจุบัน เพชรบุรี มีพระเกจิอาจารย์เรืองนามหลายรูป

“พระครูมนูญสีลสังวร” หรือ “หลวงพ่อแถม สีลสังวโร” เป็นหนึ่งในนั้น

พระเถระผู้ใหญ่อีกรูปหนึ่งของเมืองเพชรบุรี ได้รับการยกย่องว่าเคร่งครัดระเบียบ วินัย ใส่ใจด้านการปฏิบัติกัมมัฏฐาน มีความเชี่ยวชาญวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือ ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระเกจิ อาจารย์ระดับแนวหน้าภาคตะวันตก

ปัจจุบัน สิริอายุ 76 ปี พรรษา 54 ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดช้างแทงกระจาด ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และเจ้าคณะตำบลชะอำ

มีนามเดิมว่า ถาวร หนูสิงห์ เกิดเมื่อวันศุกร์ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 26 มิ.ย.2485 ที่บ้านห้วยทรายเหนือ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี บิดา-มารดา ชื่อ นายถมและนางมอม หนูสิงห์ มีพี่น้องร่วมท้องทั้งหมด 5 คน ท่านเป็นคนที่ 3

ด้วยความเป็นเด็กสันโดษ พูดน้อย อายุ 14 ปี บรรพชาที่วัดหนองกระทุ่ม อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี มีพระครูขันตยารักษ์ หรือหลวงพ่อป๋อง เป็นพระอุปัชฌาย์

ภายหลังบรรพชา อยู่รับใช้อุปัฏฐากหลวงพ่อป๋อง ท่านจึงสอนให้เขียนอักขระเลขยันต์และจารตะกรุดต่างๆ ต่อมา เมื่อจารไม่ทันจะให้มาช่วยจารด้วย จึงได้รับความไว้วางใจ และได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชา

นอกจากนี้ ยังได้รับการสอนภาษาขอมและอักขระ เลขยันต์ จากนายพรหม ที่เป็นญาติด้วย

กระทั่งหลวงพ่อป๋อง มรณภาพ จึงลาสิกขาออกมาช่วยทางบ้าน

อายุ 22 ปี เกิดความเบื่อหน่ายทางโลก จึงหันหน้าเข้าวัด อุปสมบทที่วัดช้างแทงกระจาด ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2507 มีพระครูวชิรรังสี หรือหลวงพ่อจันทร์ ธัมมสโร วัดมฤคทายวัน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “สีลสังวโร”

หลังอุปสมบท ท่านตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง หมั่นพิจารณาคำสอนของครูบาอาจารย์อย่างถ่องแท้ ได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะอุทิศกายถวายชีวิตอยู่ในบวรพระพุทธศาสนาตลอดไป

อยู่จำพรรษาที่วัดช้างแทงกระจาด

สำหรับ หลวงพ่อจันทร์ วัดมฤคทายวัน พระอุปัชฌาย์นั้น เป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ต.บางเก่าอ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และส่งหลวงพ่อ จันทร์ มาสร้างอุโบสถวัดช้างแทงกระจาดด้วย

ยามมีเวลาว่างจากงานศาสนกิจ ได้ไปกราบหลวงพ่อจันทร์ เป็นพระอาจารย์ขอเรียนวิชา ซึ่งก็ได้รับการถ่ายทอดให้ด้วยความเมตตาแบบไม่ปิดบัง

เมื่อมีทั้งภูมิรู้-ภูมิธรรม อีกทั้งได้สืบทอดสรรพวิชาจากพระเกจิผู้ทรงวิทยาคุณ หลวงพ่อแถมได้นำมาสงเคราะห์ปัดเป่ารักษาชาวบ้าน ในชุมชนรอบวัดช้างแทงกระจาด ให้อยู่เย็นเป็นสุข แต่ท่านก็ไม่ทิ้งการพัฒนาวัดช้างแทงกระจาด ด้วยท่านมีฝีมือในการก่อสร้างกุฏิ วิหารและศาลาการเปรียญ จึงเสร็จสมบูรณ์

การก่อสร้างนั้นหลวงพ่อแถม ได้ไปสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่ง คือ วัดทุ่งญวน และวัดนี้เป็นวัดที่ท่านเคยไปจำพรรษา

พ.ศ.2538 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท ในราชทินนามที่ พระครู มนูญสีลสังวร

ผู้ที่ได้เข้ากราบไหว้จะพบว่าท่านเป็นพระที่เรียบง่าย ใจดี พูดจาไพเราะ ใจเย็น ยิ้มแย้มแจ่มใสกับทุกคน เปี่ยมไปด้วยเมตตา ต้อนรับทุกคนด้วยความเสมอภาค

งานพุทธาภิเษกวัตถุมงคลรุ่นดังแทบทุกรุ่น ต้องมีชื่อหลวงพ่อแถม เข้าร่วมพิธีด้วยแทบทุกงาน

อบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ให้มุ่งมั่นกระทำแต่ความดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน