“ความสงบที่เกิดจากปัญญานั้น จึง ไม่ใช่ความสุข แต่เป็นความรู้เห็นตาม ความเป็นจริงของความสุขความทุกข์” สารธรรมมงคล หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

“หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม” อดีตเจ้าอาวาส วัดตาลกง ต.มาบปลาเค้า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อ ครั้งหนึ่งท่านเคยสร้างพระพิมพ์สี่เหลี่ยม เซียนพระและนักสะสมนิยมเรียกขานว่า “พระสมเด็จเหม็น” หรือพระสมเด็จพิมพ์คะแนน สร้างประมาณ 84,000 องค์

ลักษณะของพระสมเด็จเหม็น แบ่งได้ดังนี้ มียันต์หลัง ว.ต.ก. (ย่อมาจาก วัดตาลกง) ชัดเจนอยู่ประมาณ 4,000 องค์, มียันต์หลังและคำว่า ว.ต.ก. ไม่ชัดเจน เนื่องจากป้ายสีผึ้ง ประมาณ 30,000 องค์ และมียันต์หลังไม่ชัดเจน เนื่องจากพิมพ์สึก จนเลือนรางประมาณ 50,000 องค์ สำหรับเนื้อที่พิมพ์ยันต์หลังชัดเจน จะมีเนื้อลองพิมพ์เป็นสีแดงอมน้ำตาลประมาณ 500 องค์ เนื้อแก่น้ำมันประมาณ 2,500 องค์

องค์พระทั้งหมดนำมารวมกัน และประกอบพิธีปลุกเสกตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2505 รวมระยะเวลาปลุกเสกนานถึง 8 ปี จึงนำออกแจกจ่ายให้สานุศิษย์ เหตุที่เรียกขานกันว่า พระสมเด็จเหม็น เนื่องจากองค์พระมีกลิ่นเหม็น เกิดจากข้าวก้นบาตรที่นำไปหมักผสมกับผงต่างๆ เหม็นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการ หมักนานเพียงใด

“หลวงพ่อจ้อย จันทสุวัณโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีอุทุมพร (วังเดื่อ) ต.หนองกรด อ.เมือง จ.นครสวรรค์ วัตถุมงคลโดยเฉพาะ “เหรียญหลวงพ่อจ้อย รุ่นพิเศษ 82 ปี” จัดสร้างพ.ศ.2539 เป็นเหรียญโลหะทองเหลือง รูปไข่ มีหูห่วง ความยาวรอบเหรียญ 8.8 เซนติเมตร

ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนนั่งขัดสมาธิเต็มองค์ นั่งอยู่บนฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย ใต้ฐานบัวมีตัวอักษรภาษาไทยเขียนว่า “รุ่นพิเศษ” ต่ำลงไปเป็นตัวเลขไทย “๘๒” ล่างสุดเป็นตัวหนังสือว่า “หลวงพ่อจ้อย” ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเป็นยันต์พระเจ้า 5 พระองค์ มีตัวอุณาโลมขึ้น 3 ตัว ใต้ยันต์มีอักษรขอม ใต้คาถาเป็น “พ.ศ.๒๕๓๙”

“พระผงพระพุทธสิหิงค์ ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช” สร้างในวาระสร้างศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.2530 รุ่นแรกของศาลหลักเมือง ลักษณะเป็นพระเนื้อผง ประกอบด้วยมวลสารศักดิ์สิทธิ์สำคัญ ลักษณะพิมพ์ทรงเป็นรูปทรงแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบชิ้นฟัก

ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปจำลองพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย เหนืออาสนะฐานบัวเล็บช้าง 2 ชั้น รองรับด้วยฐานเขียง อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว เส้นซุ้มแกะเป็นรูปก้นหอยหรือสะดือทะเลน้อยใหญ่ จำนวน 21 วง และรองรับฐานซุ้มด้วยฐานหน้ากระดาน 3 ชั้น องค์พระแลดูอวบอ้วนสมบูรณ์ พระอุทรพลุ้ยเล็กน้อย ปรากฏเส้นจีวรและเส้นสังฆาฏิ

ด้านหลังเป็นรูปพระราหูอมสุริยัน-จันทรา ด้านล่างกำกับด้วยยันต์หัวใจ จำนวนการจัดสร้างเป็นหลักแสนองค์ ทำให้มีแม่พิมพ์หลายบล็อก ดังนั้น รายละเอียดจึงแตกต่างกันไปบ้าง เป็นพระผงที่ทรงคุณค่า เป็นที่นิยม

อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน