เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ “พระครูปลัดวชิรโสภณญาณศิลา” เป็น “พระราชวัชรธรรมโสภณ โกศลบริหารวรกิจยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี” พระราชาคณะชั้นราช สถิต ณ ที่พักสงฆ์ธรรมอุทยานหลวงปู่ศิลา จังหวัดกาฬสินธุ์ มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.2566 ประกาศ ณ วันที่ 30 มิ.ย.2566

พระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจันโท) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหมื่นหิน ต.กุดปลาค้าว อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ พระเกจิเรืองวิทยาคมอีกรูปภาคอีสาน มีวัตรปฏิบัติดี สมถะ เรียบง่าย เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา

ปัจจุบัน สิริอายุ 78 ปี พรรษา 57

มีนามเดิม “ศิลา นิลจันทร์” เกิดเมื่อวันที่ 14 ต.ค.2488 ที่ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด เป็นบุตรของนายแก่น และนางน้อย นิลจันทร์ ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา

หลังจบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนในหมู่บ้าน ออกมาช่วยงานครอบครัวทำไร่ทำนา

แต่ด้วยความเป็นผู้มีจิตใจใฝ่ทางธรรม อายุ 15 ปี บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดธาตุประทับ และเมื่ออายุครบบวช พ.ศ.2509 เข้าพิธีอุปสมบท ที่พระอุโบสถวัดบูรพาภิราม จ.ร้อยเอ็ด โดยพระสิริวุฒิเมธี เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ดขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์

มุมานะศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ และสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค








Advertisement

ด้วยความที่เป็นพระที่มีความรู้ จึงได้รับหน้าที่เป็นครูพระอาจารย์สอนที่ ร.ร.วัดนิคมคณาราม จ.ร้อยเอ็ด อีกทั้งยังรับหน้าที่เป็นพระปาฏิโมกข์ในการลงอุโบสถของคณะสงฆ์ตลอดมา

นอกจากมีความแตกฉานด้านพระปริยัติ ยามว่างจากวัตรปฏิบัติประจำ ยังออกธุดงค์ปลีกวิเวกไปตามป่าเขาในหลายจังหวัด และในปี พ.ศ.2517 เดินธุดงค์ข้ามแม่น้ำโขง ไปยังภูเขาควาย ประเทศ สปป.ลาว พบกับครูบาอาจารย์พระเกจิอาจารย์ชื่อดังภาคอีสานหลายรูป อาทิ หลวงปู่ทองมา ถาวโร, หลวงพ่อมหาบุญมี สิรินธโร, หลวงปู่ลี กุสลธโร เป็นต้น

ยังร่ำเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐาน อักษรธรรมลาว และอ่านหนังสือจากใบลานอีสาน รวมทั้งศึกษาคัมภีร์ใบลานสายสำเร็จลุน อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง สปป.ลาว จนแตกฉาน

ช่วงราวปี พ.ศ.2525 จำพรรษาที่วัดสันติวิหาร อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด ร่วมกับหลวงพ่อสมาน ธัมมรักขิโต พัฒนาศาสนสถานวัดจนเจริญรุ่งเรือง

แต่ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มีนิสัยสันโดษ เรียบง่าย สมถะ จึงได้ออกมาปฏิบัติภาวนารูปเดียวที่ถ้ำบ้านโดนเดื่อ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด

จนถึงปี พ.ศ.2539 ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดธาตุประทับ จ.ร้อยเอ็ด

จากการที่เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีพุทธาคมจึงได้รับนิมนต์ไปเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกงานทั่วภาคอีสาน รวมทั้งงานใหญ่ระดับประเทศ อาทิ งานพุทธาภิเษกพระกริ่งวัดสุทัศน์ เป็นต้น

ด้วยความที่ชมชอบความสันโดษ จึงธุดงค์ไปจำพรรษาปฏิบัติธรรมอยู่ตามป่าเขาซึ่งเป็นสถานที่เงียบสงบหลายแห่ง อาทิ ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ ป่าช้าในพื้นที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ป่าช้าร้างบ้านม่วงมา อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ เป็นต้น

พ.ศ.2560 เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีสะอาด บ้านแกแปะ ต.เชียงเครือ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กราบนิมนต์มาจำพรรษาที่วัด เนื่องจากเห็นว่าอายุมาก

พ.ศ.2566 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหมื่นหิน (ธรรมยุต) หมู่ที่ 5 บ้านทุ่งกระเดา ต.กุดปลาค้าว อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2564 ได้รับแต่งตั้งจากพระพรหมวชิรโสภณ (ศรีจันทร์ ปุญฺญรโต) ให้ดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์ฐานานุกรม พระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ฐานานุศักดิ์ในราชทินนามปรากฏตามสัญญาบัตร ที่ พระครูปลัดวชิรโสภณญาณ

ล่าสุด วันที่ 30 มิ.ย.2566 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวัชรธรรมโสภณ

ด้วยความที่เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเสมอต้นเสมอปลาย ทำให้ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในและนอกพื้นที่อย่างรวดเร็ว

สำหรับปัจจัยที่ได้จากการบริจาค นำไปบริจาคพัฒนาให้วัดต่างๆ หลายแห่ง ให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาของชาติ ให้การอุปถัมภ์โรงเรียนในพื้นที่ อาทิ ร.ร.บ้านธาตุประทับ จ.ร้อยเอ็ด, ร.ร.เหล่านาแกวิทยา และร.ร.แกเปะราชนิยม จ.กาฬสินธุ์ เป็นต้น

เป็นพระเถระที่ควรแก่การยกย่องอีกรูป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน