วันศุกร์ที่ 26 ม.ค.2567 น้อมรำลึกครบรอบ 24 ปี มรณกาล “พระครูเกษมคณาภิบาล” หรือ “หลวงพ่อมี เขมธัมโม” วัดมารวิชัย ต.บางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา พระเกจิชื่อดังที่ชาวบ้านเมืองกรุงเก่าต่างให้ความเลื่อมใสศรัทธา

มีนามเดิม บุญมี ธนสนธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 4 มี.ค.2454 ตรงกับวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 4 ปีกุน ที่หมู่บ้านขนมจีน ข้างวัดมารวิชัยตอนใต้ บิดา-มารดาชื่อ นายโหมดและนางพุฒ ธนสนธิ์

ในวัยเด็ก ใจบุญสุนทาน ชอบติดตามบิดามารดาเข้าวัด

อายุเพียง 12 ปี ขอติดตามพระพี่ชายมาอยู่ด้วยทันที ตอนแรกบรรดาญาติผู้ใหญ่ไม่มีผู้ใดยอม ด้วยเกรงจะเป็นภาระให้กับพระพี่ชายที่เพิ่งบวชใหม่ แต่สุดท้ายครอบครัวก็ยินยอม

มีใจฝักใฝ่จะบรรพชาเป็นสามเณรมานานแล้ว แต่ติดขัดที่มีภาระช่วยบิดา-มารดา ทำไร่ไถนา จึงต้องคอยให้มีอายุครบบวชเสียก่อน จึงจะได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุตามประเพณีนิยม ซึ่งบรรดาชายทั้งหลายกระทำกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล

อริยะโลกที่ 6

ดังนั้น เมื่ออายุ 21 ปี จึงเข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดมารวิชัย วันที่ 14 ก.ค.2475 มีพระครูอดุลวุฒิกร หลวงพ่อพิน จันทโชโต วัดช่างเหล็ก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อเขียน โชติสโร วัดบ้านพร้าวนอก อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อเกลี้ยง อินทโชติ วัดมารวิชัย เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ได้รับฉายา เขมธัมโม แปลว่า ผู้มีธรรมะอันเกษม

ศึกษาพระปริยัติธรรม สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ

ด้านวิทยาคมศึกษาพุทธาคมกับหลวงพ่อเขียน วัดบ้านพร้าวนอก ผู้มีศักดิ์เป็นหลวงน้าแท้ๆ โดยได้รับการถ่ายทอดวิชาการเล่นแร่แปรธาตุ และการสร้างวัตถุมงคลเนื้อเมฆพัด นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาวิทยาคมและกัมมัฏฐานจากพระอาจารย์ผู้เรืองนามอีกหลายรูป อาทิ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค โดยอยู่ช่วยหลวงพ่อปานสร้างพระเนื้อดินอยู่ 3 ปี และสำเร็จเตโชกสิณกับหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก

กล่าวได้ว่า อยู่ศึกษาวิชากับหลวงพ่อจงมากที่สุด และนานเกือบ 30 ปี โดยท่านได้เดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างวัดหน้าต่างนอก และวัดมารวิชัย ทั้งยังได้ร่วมงานกับหลวงพ่อจงอย่างใกล้ชิดอยู่บ่อยครั้ง และอุปัฏฐากดูแลหลวงพ่อจง ตราบจนหลวงพ่อจงท่านสิ้นลมหายใจ

เมื่ออายุมากขึ้นแล้ว เข้าศึกษาหาความรู้ในโรงเรียนพระสังฆาธิการส่วนภูมิภาค จ.พระนครศรีอยุธยา จนสำเร็จการศึกษารุ่นที่ 1 ปี พ.ศ.2513

นำความรู้ทางด้านพระปริยัติธรรมที่ร่ำเรียนมา สอนพระภิกษุ-สามเณรภายในวัดมารวิชัย ตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส

เมื่อเป็นเจ้าอาวาส ก็ลงมือสอนนักธรรมด้วยตัวเอง ในระหว่างเข้าพรรษาตลอด 3 เดือน จนพระภิกษุ-สามเณรทั้งหลายมีความรู้ความสามารถ สอบเปรียญธรรมขั้นสูงได้ปีละหลายสิบรูป

ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2481 เป็นเจ้าอาวาสวัดมารวิชัย พ.ศ.2493 เป็นเจ้าคณะตำบลบางนมโค และพระอุปัชฌาย์

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2507 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ พระครูเกษมคณาภิบาล

พ.ศ.2510 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2514 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

ด้านสาธารณประโยชน์ นำปัจจัยที่มีอยู่สมทบทุนกับทางราชการสร้างโรงเรียน 2 แห่งคือ โรงเรียนวัดมารวิชัยและโรงเรียนจุฬาราษฎร์วิทยา ในเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ เมื่อปี พ.ศ.2509 และยังได้สร้างสถานีอนามัย เนื้อที่ 7 ไร่ กับสำนักงานผดุงครรภ์ประจำตำบลบางนมโค ในเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน อีกด้วย

มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย รวมทั้งมีกิจนิมนต์ไปร่วมพิธีพุทธาภิเษกทั่วประเทศ ด้วยตรากตรำงานมานาน สังขารจึงทรุดโทรม ทำให้ท่านอาพาธล้มป่วยลง

กระทั่งวันที่ 26 ม.ค.2543 จึงมรณภาพอย่างสงบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน