วันพุธที่ 7 ก.พ.2567 น้อมรำลึกวันครบ 125 ปี ชาตกาล “ครูบาชุ่ม โพธิโก” แห่งวัดชัยมงคล (วังมุย) ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน พระเถราจารย์ชื่อดังรูปหนึ่งในภาคเหนือ ชื่อเสียงเกียรติคุณเป็นที่รับรู้กันเป็นอย่างดี อันเปี่ยมไปด้วยเมตตา มีศีลาจารวัตรงดงาม

มีนามเดิม ชุ่ม ปลาวิน เกิดเมื่อวันอังคารที่ 7 ก.พ.2442 ที่บ้านวังมุย จ.ลำพูน บิดา-มารดา ชื่อ นายมูลและนางลุน ปลาวิน มีพี่น้อง ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม

ช่วยเหลือบิดา มารดา แบ่งเบาภาระการงาน เช่น ช่วยทำงานในทุ่งนา เท่าที่สามารถจะทำได้ทุกอย่าง เลิกงานก็ทำสวนทำไร่ ถางหญ้าพรวนดิน และงานบ้าน

ครั้นเมื่อเติบโตได้พอสมควร ศึกษาเล่าเรียนการอ่าน การเขียนหนังสือเบื้องต้นกับเจ้าอาวาสวัดศรีสองเมือง พร้อมกับเรียนวิธีการอ่านบทสวดมนต์ และธรรมะเบื้องต้นจากท่านเจ้าอาวาส

ด้วยความเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย และมีความจำดีเลิศ จึงเป็นที่เมตตาของเจ้าอาวาส ทำให้ซึมซับหลักพระธรรมคำสอนจนสามารถอ่านหนังสือ และสวดมนต์ได้อย่างคล่องแคล่ว

อายุ 12 ปี ขออนุญาตบิดาและมารดา เพื่อบรรพชา ซึ่งบุพการีทั้งสองต่างก็พร้อมใจให้บรรพชา จึงได้นำไปฝากเป็นศิษย์ครูบาอินตา แห่งวัดพระธาตุขาว จ.ลำพูน

ต่อมาเข้าพิธีบรรพชา โดยมีครูบาอินตา วัดพระธาตุขาว เป็นพระอุปัชฌาย์

จนอายุ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่บ้านวังมุย จ.ลำพูน โดยมีพระครูบาอินตา (ครูบาปัญโญ) วัดพระธาตุขาว เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์หมื่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์หลวงอ้าย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า โพธิโก

ด้วยใจฝักใฝ่ในพระธรรมคำสั่งสอน ออกเดินทางศึกษาหาความรู้ในด้านพระกัมมัฏฐาน ปฏิบัติด้านวิปัสสนาธุระ ซึ่งเป็นการศึกษาอีกประการหนึ่งที่ควบคู่กับด้านคันถธุระ เพื่อชำระจิตใจตัวเองให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลส อันจะยังให้เกิดสมาธิเบื้องสูง ซึ่งเป็นภาระหนักมาก ในการเพียรพยายาม

นอกจากนี้ ยังศึกษาศาสตร์ทางวิทยาคมและการพิชัยสงครามอีกด้วย

เดินทางมาที่วัดท้าวบุญเรือง ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ โดยมีครูบาสุริยะเป็นพระอาจารย์ เมื่อศึกษาจบได้ไปศึกษาต่อกับครูบาศรีวิชัย วัดร้องแหย่ง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ผู้เป็นพระอาจารย์วิปัสสนากัมมัฏฐานและเป็นพระปฏิบัติธรรมที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้น

ศึกษาสำเร็จและมีความชำนาญเชี่ยวชาญดีแล้ว จึงได้กราบลาพระอาจารย์ออกเดินทางค้นคว้าศึกษาหาวิชาต่อไปอีก ต่อมาเข้าศึกษาต่อกับครูบาแสน วัดหนองหมู อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นพระอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานสำนักใหญ่ในจังหวัด มีลูกศิษย์มากมาย

ท่านอยู่ปรนนิบัติอุปัฏฐากผู้เป็นอาจารย์เป็นเวลานานถึง 2 ปี จึงกราบลาพระอาจารย์กลับวัดวังมุย

ต่อมาเกิดความเบื่อหน่าย ด้วยต้องการปฏิบัติเพื่อความสงบวิเวก จึงตัดสินใจออกธุดงค์ โดยจาริกไปยัง อ.ลี้ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวลัวะ, ยาง, กะเหรี่ยง, อบรมธรรมเทศนาธรรมโปรดชาวบ้าน จนมีลูกศิษย์มากมาย

เมื่อมีการสร้างทางขึ้นพระบรมธาตุดอยสุเทพ ในปี พ.ศ.2478 ด้วยการริเริ่มและนำโดยครูบาศรีวิชัย วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน

ขณะนั้น มีอายุ 37 ปี เข้าร่วมช่วยเหลือการสร้างด้วย โดยสมัครเข้าเป็นศิษย์

ครูบาศรีวิชัยแบ่งแยกหน้าที่การงานให้ปฏิบัติ โดยเฉพาะครูบาชุ่ม ทำหน้าที่ช่วยเหลือครูบาศรีวิชัยอย่างใกล้ชิด ทั้งภายในวัดและนอกวัด ได้รับข้อปฏิบัติธรรมจากครูบาศรีวิชัยมากมาย มีโอกาสศึกษากันอย่างใกล้ชิด ทุกยามค่ำ ครูบาศรีวิชัยจะอบรมสั่งสอนข้อปฏิบัติสมาธิวิปัสสนากัมมัฏฐานจนเกิดความชำนาญ

เป็นพระเถระที่รอบรู้และเคร่งครัดในพระธรรมวินัย และมีความวิริยอุตสาหะปฏิบัติ

รับนิมนต์ให้เป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษกหลายงาน ครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง ได้แก่ พิธีพุทธาภิเษกอัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง จ.ลำพูน ครูบาชุ่ม เป็นประธานในพิธี มีพระเถระทั่วภาคเหนือเข้าร่วมในพิธีนี้ ซึ่งนับเป็นประวัติการณ์

มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันศุกร์ที่ 10 ก.ย.2519 สิริอายุ 77 ปี พรรษา 57

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน