วันจันทร์ที่ 11 มี.ค.2567 น้อมรำลึกครบรอบ 21 ปี มรณกาล “หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล” พระเกจิชื่อดังแห่งวัดป่าหนองหล่ม อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว
หลวงปู่หมุน เกิดในสกุล “ศรีสงคราม” หรือ “แก้วปักปิ่น” ถือกำเนิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ปีชวด พ.ศ.2437 ที่บ้านจาน อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา เป็นเด็กยากจน แต่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด

หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล
ต่อมาบิดา-มารดาเห็นแววทางด้านพระพุทธศาสนา จึงให้บรรพชาเมื่ออายุ 14 ปี และนำไปฝากกับพระอาจารย์สีดา เจ้าอาวาสวัดบ้านจาน ซึ่งเป็นพระที่เชี่ยวชาญด้านกัมมัฏฐาน
ในปี 2460 ขณะอายุ 23 ปี เข้าพิธีอุปสมบท มีหลวงพ่อสีดาเป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อเพ็งเป็นพระอนุสาวนาจารย์ และหลวงพ่อผุยเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า ฐิตสีโล
จากนั้นศึกษาวิชาความรู้จากครูบาอาจารย์ต่างๆ ในแถบนั้นเป็นเวลา 4 ปี ก่อนออกแสวงหาครูบาอาจารย์อื่นๆ เพื่อศึกษาคันถธุระและวิปัสสนาธุระในชั้นที่สูงขึ้นไป
พ.ศ.2464 เริ่มออกศึกษาแสวงหาประสบการณ์ ร่ำเรียนวิทยาคมและสมถกัมมัฏฐานจากครูบาอาจารย์หลายสำนัก การเดินทางในสมัยนั้นเป็นที่ลำบากยากเย็น ต้องเดินเท้าเปล่า แต่หลวงปู่มิได้ย่อท้อ เดินทางไปศึกษาวิชาอาคมที่สำนักตักสิลาแห่งบ้านจิกใหญ่ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
ในช่วงปี 2475-2482 เมื่อหลวงปู่สำเร็จการศึกษา เก็บบริขารออกธุดงค์ป่าผ่านถิ่นทุรกันดารในชนบทมายังกรุงเทพฯ ในระยะแรกเข้าพักที่วัดเทพธิดารามเป็นการชั่วคราว โดยมีครูทองอินทร์ วัดเทพธิดาราม เป็นผู้เอื้อเฟื้อจัดหาที่พำนักให้ ท่านได้ให้หลวงปู่อยู่ที่วัดอรุณราชวราราม พำนักอยู่กับพระพิมลธรรม (นาค) ศิษย์สายสมเด็จพระสังฆราช (แพ)
เข้าสอบวิชามูลกัจจายน์ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งการสอบในสมัยนั้นมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธาน และสมเด็จพระสังฆราช (แพ) เป็นประธานกรรมการฝ่ายสงฆ์ และพระเถราจารย์เป็นผู้ทดสอบด้วย โดยมีการถามตอบแบบมุขปาฐะ (ปากเปล่า) ถ้าถามตอบบาลีผิดเกิน 3 คำให้ปรับเป็นตกทันที
ด้วยความรู้ความสามารถที่แตกฉานในคัมภีร์หลวงปู่หมุนสามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยคในคราวเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นหลวงปู่ได้ใช้วิชาความรู้อย่างคุ้มค่า โดยได้เป็นครูสอนมูลกัจจายน์อยู่ที่วัดหงส์รัตนาราม ธนบุรี เป็นเวลานานหลายปี มีลูกศิษย์มากมาย
จากนั้นเก็บบริขารเดินธุดงค์ติดตามพระอาจารย์ทองดีที่มาจาก อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย ธุดงค์ไปทางภาคเหนือเข้าเขตพม่าเป็นเวลา 1 ปี จากนั้นก็เดินเท้าเปล่าลงภาคใต้ไปพำนักกับพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ เพื่อปฏิบัติกัมมัฏฐานและแลกเปลี่ยนวิชา ก่อนธุดงค์เข้าเขตประเทศมาเลเซียเพื่อจะเรียนวิชากับพ่อท่านครน วัดบางแซะ แต่ไม่พบจึงตัดสินใจกลับวัดช้างให้
ต่อจากนั้นได้เรียนวิชาจากพ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช โดยได้ของที่ระลึกจากพ่อท่านคล้าย คือ ชานหมากเม็ดใหญ่ จากนั้นเดินธุดงค์กลับสู่เขตอีสานอีกครั้งและพบกับหลวงปู่สี ฉันทสิริ ในป่าแถบจังหวัดหนองคาย ได้วิชาลบผงสีจากหลวงปู่สี
หลังจากนั้นกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านจาน จนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์ รับสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นประทวน
ปฏิบัติศาสนกิจตามที่ได้รับมอบหมายเป็นเวลาถึง 20 ปี จึงลาออกจากทุกตำแหน่ง ต้องการใช้ชีวิตที่เหลือบำเพ็ญสมณธรรมปฏิบัติพระวิปัสสนาธุระอย่างเดียว
ประมาณปี 2487 ในช่วงที่หลวงปู่อายุ 50 ปี ออกธุดงค์บำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าดงดิบ ในช่วงนี้เองที่พบกับอาจารย์จ่อยและอาจารย์ขวัญ วัดป่าหนองหล่ม ระหว่างที่ธุดงค์โดยบังเอิญ
พระอาจารย์ทั้งสองนิมนต์ไปโปรดญาติโยมที่วัดป่าหนองหล่ม หลังจากเดินธุดงค์แสวงหาธรรมอยู่หลายสิบปี ประมาณปี 2520 จึงกลับมายังวัดบ้านจาน ซึ่งวัดบ้านจานในยามนั้นมีอายุกว่า 200 ปี อยู่ในสภาพทรุดโทรม จึงได้พัฒนาวัด สร้างอุโบสถขึ้นมา ทำให้อุโบสถเสร็จสมบูรณ์ในเวลาอันสั้น
นอกจากนี้ ยังได้ช่วยเหลือลูกศิษย์และสหธรรมิกอีกหลายวัด เช่น วัดป่าหนองหล่ม, วัดโนนผึ้ง, วัดซับลำใย ฯลฯ
วัตถุมงคลที่สร้างได้รับความนิยมอย่างยิ่ง
จนกระทั่งวันที่ 11 มี.ค.2546 มรณภาพอย่างสงบ สิริอายุ 109 ปี พรรษา 86