วันเสาร์ที่ 30 มี.ค.2567 น้อมรำลึกครบรอบ 107 ปี ชาตกาล “หลวงพ่อกริ่ง ปัญญาพโล” หรือ “พระครูวิธาน กาญจนกิจ” วัดโพธิ์ศรีสุขาราม (วัดโพธิ์เลี้ยว) อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี

พระเกจิที่มีชื่อเสียงโด่งดังในพื้นที่เมืองกาญจน์

มีนามเดิมชื่อ กริ่ง จินดากูล เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 30 มี.ค.2460 พื้นที่บ้านทวน ต.บ้านทวน อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี บิดา-มารดา ชื่อ นายนาค และนางเทียบ จินดากูล

เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2483 ที่พัทธสีมาวัดท่าเรือ จ.กาญจนบุรี มีพระครูวรวัตตวิบูลย์ เจ้าอาวาสวัดแสนตอ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการวุ้น พุทธสโร เจ้าอาวาสวัดท่าเรือ เป็นพระ กรรมวาจาจารย์ และพระใจ วัดแสนตอ เป็นอนุสาวนาจารย์

อยู่จำพรรษาวัดวังศาลา ต.วังศาลา อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี แต่หลังจากนั้นไม่นาน ท่านย้ายไปสังกัดวัดศีรษะทอง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เพื่อศึกษาธรรมและวิทยาคมจากหลวงพ่อน้อยเจ้าอาวาสวัดศีรษะทอง เกจิชื่อดังของเมืองนครปฐม เจ้าตำรับราหูอมจันทร์

ในสมัยนั้นหลวงพ่อน้อย มีศิษย์ก้นกุฏิอยู่ 2 รุป คือ พระสมและพระกริ่ง

จึงส่งไปเรียนที่วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค และหลวงพ่อน้อยหวังจะให้รับช่วงเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อจากท่าน

ขณะเดียวกันก็รู้ว่า พระกริ่งสนใจ ด้านวิทยาคม จึงได้เสกหมากเสกพลูให้พระกริ่งเคี้ยวทุกวัน ก่อนสอนวิชาวัวธนูและวิชาราหู

เป็นศิษย์ก้นกุฏิเพียงคนเดียวเท่านั้นที่หลวงพ่อน้อยครอบครูราหูให้ และช่วยหลวงพ่อน้อย จารกะลามาโดยตลอด

ครั้นเมื่อได้รับการถ่ายทอดวิชาจนเสร็จสิ้น จึงได้กลับมาจำพรรษา ที่วัดหัวพงษ์ ในขณะนั้นมีเจ้าอาวาสรูปแรกนามว่า หลวงตาปั้น

ต่อมาหลวงตาปั้นออกธุดงค์ และไม่ได้กลับมาที่วัดหัวพงษ์อีกเลย

ในปี พ.ศ.2487 ชาวบ้านจึงไปนิมนต์หลวงพ่อกริ่ง จากวัดศีรษะทองมาจำพรรษา

ต่อมาขณะนั้นอยู่ในช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นตั้งค่ายอยู่ตรงหน้าวัดโพธิ์เลี้ยว

มีเรื่องเล่าขานกันว่า ครั้งหนึ่ง เดินผ่านค่ายทหารญี่ปุ่นในยามวิกาล ทหารญี่ปุ่นเข้าใจผิดคิดว่าเป็นไส้ศึก ชักเอาดาบซามูไรฟันไปที่หลังจนจีวรขาดแต่ดาบซามูไรไม่ระคายผิวแม้แต่น้อย ทำให้ทหารญี่ปุ่นพากันนับถือยำเกรง เป็นอย่างมาก ขนาดขับรถจี๊ปให้นั่งไปกลับวัดศีรษะทองทุกครั้ง

เมื่อสงครามสงบลง ทหารญี่ปุ่นได้ถวายรถยนต์ เครื่องปั่นไฟ ให้ทั้งหมด

วัดโพธิ์เลี้ยวจึงเป็นวัดแรกๆ ของ จ.กาญจนบุรี ที่มีรถยนต์และเครื่องปั่นไฟใช้ก่อนใครสมัยนั้น

พ.ศ.2519 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่ พระครูวิธานกาญจนกิจ

ช่วงท้ายชีวิต ก่อสร้างอาคารเรียน วัดโพธิ์ศรีสุขาราม แต่เกิดอุบัติเหตุ พลัดตกที่สูง กระดูกสันหลังอักเสบ

มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2535 เวลา 16.30 น.

สิริอายุ 75 ปี พรรษา 52

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน