“สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” (ป.อ.ปยุตโต) เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน และที่ปรึกษามหาเถรสมาคม เป็นประธานในพิธีอัญเชิญพระพุทธปฏิมา “พระพุทธมหาจุฬาลงกรณชุตินธร บวรศาสดา” ประดิษฐานบนฐานชุกชีที่รมณียพุทธอุทยาน บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพระพรหมวชิราธิบดี (พีร์ สุชาโต) นายกสภามหาวิทยาลัย, พระธรรมวัชรบัณฑิต (สมจินต์ สัมมาปัญโญ) อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระเทพปวรเมธี (ประสิทธิ์ พรหมรังสี) รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร, ศ.พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต, นายสด แดงเอียด อดีตอธิบดีกรมการศาสนา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร พระคณาจารย์ พระนิสิต และเจ้าหน้าที่ ร่วมพิธี

 

น.ส.เพ็ญศรี ชั้นบุญ ประธานคณะทำงานสร้างพระพุทธมหาจุฬาลงกรณชุตินธรบวรศาสดา และสร้างฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมา กล่าวว่า ตามที่มหาจุฬาฯ ได้จัดงานวันจำนงค์ ทองประเสริฐ ในวันที่ 2 พ.ค.ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันอายุวัฒนมงคลของ ศ.พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต คณะศิษยานุศิษย์ได้ปรารภในการสร้างพระพุทธปฏิมา เป็นอนุสรณ์ในมงคลสมัยคล้ายวันเกิดของ ศ.พิเศษ จำนงค์ ผู้เป็นปูชนียบุคคลของมหาจุฬาฯ โดยความเห็นชอบของพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธัมมจิตโต) อุปนายสภามหาวิทยาลัย ประธานมูลนิธิจำนงค์ ทองประเสริฐ พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดี และคณะผู้บริหารมจร เพื่อประดิษฐานไว้ ณ รมณียพุทธอุทยาน มจร. ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

 








Advertisement

สำหรับมงคลนามพระพุทธมหาจุฬาลงกรณชุตินฺธรบวรศาสดา ได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ในการตั้งชื่อพระพุทธปฏิมาองค์นี้ ซึ่งมีขนาดหน้าตักความกว้าง 5 เมตร สูง 6 เมตร 30 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 4.5 ตัน เป็นพระพุทธปฏิมาปางปฐมเทศนาที่หล่อด้วยทองสำริดทั้งองค์ นอกจากนี้ ยังได้รับอนุมัติงบประมาณรายได้ของมหาจุฬาฯ เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านหน้ามหาจุฬาฯ และพัฒนาพื้นที่ให้เป็นรมณียพุทธอุทยานด้วย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ กล่าวสัมโมทนียกถาตอนหนึ่งว่า “เราทั้งหลายที่มาร่วมกันในการอัญเชิญพระพุทธมหาจุฬาลงกรณชุตินธรบวรศาสดาครั้งนี้ ต่างเป็นพุทธมามกะ ซึ่งหากกล่าวถึงความหมายง่ายๆ หมายถึง ผู้ที่รับพระพุทธเจ้ามาเป็นของเรา หรือหากกล่าวถึงความหมายของพุทธมามกะในอีกความหมาย คือ การที่พระพุทธเจ้ายอมรับเป็นสาวกของพระองค์ ซึ่งต้องประพฤติดีปฏิบัติชอบ ต้องศึกษาหลักตามไตรสิกขา จึงจะถึงความสมบูรณ์ในการเป็นพุทธมามกะ การได้มาร่วมอัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวประดิษฐานแล้ว ถือว่าเป็นพระประธานของ มจร เราทั้งหลายก็ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของมจร. ทั้งหมด และต้องช่วยกันบริหารมจร. ให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยดี เพราะมจร. ถือได้ว่าเป็นฐานสำคัญในการทำให้พระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้า และยังเป็นการประกาศถึงความเจริญมั่นคงของมจร. โดยมีพระพุทธรูปนี้เป็นสิ่งยืนยัน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน