พลันที่ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ผ่านการประทับตราว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญ

ประตูแห่ง “การเลือกตั้ง” ก็เปิดออก

แม้จะมีข่าวเขย่าขวัญในเชิงตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเลื่อนจากภายในเดือนกุมภาพันธ์เป็นภายในเดือนพฤษภาคม 2562

แต่ท่าทีของผู้คนก็ยอมรับมากกว่าหงุดหงิด

ยอมรับเพราะว่าเป็นการเลื่อนไปเพียงไม่กี่เดือน ยอมรับเพราะอย่างน้อยก็ยังอยู่ในกรอบภายในต้นปี 2562 ไม่มากไปกว่านั้น

ยอมรับแต่ก็เฝ้าระวัง

มีเหตุผลมากมายที่ออกมารองรับความไม่อยากเลือกตั้งของคสช. โดยพื้นฐานก็คือบทสรุปอันมาจาก นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อเดือนกันยายน 2558 ที่ว่า

เขาอยากอยู่ยาว

รูปธรรมรองรับก็คือ การเลื่อนแล้วเลื่อนอีก “โรดแม็ป” แม้ว่าจะเคยประกาศครั้งแล้วครั้งเล่า ที่โตเกียว ที่นิวยอร์ก ที่ทำเนียบขาว

จากเดือนพฤษภาคม 2557 เรื่อยมาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2562

คล้ายกับว่าการยื้อ ถ่วง หน่วง เวลาของการเลือกตั้งโดยคสช.เช่นนี้จะเป็นผลดี แต่บรรยากาศทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม 2561 ก็เป็นคำตอบได้อย่างแจ่มชัด

เป็น “ผลเสีย” มากกว่าจะเป็น “ผลดี”

นับแต่นี้เป็นต้นไปจึงยากเป็นอย่างยิ่งที่คสช.จะสามารถเตะถ่วงโรดแม็ปการเลือกตั้งออกไปอีกเหมือนที่เคยกระทำมาแล้ว

หนทางของ “คสช.” จึงระทึกเป็นอย่างยิ่ง

ที่หวังว่าจะสามารถก่อพันธมิตรในแนวร่วมกับพรรคการเมืองเก่าบางพรรคก็วางอยู่บนรากฐานอันคลอนแคลนเป็นอย่างยิ่ง

ตัวอย่างที่เห็นจาก “บุรีรัมย์” ก็เด่นชัด

แม้จะหวังลึกๆ จากพรรครวมพลังประชาชาติไทยว่าจะสามารถต่อสายไปยังบางส่วนภายในพรรคประชาธิปัตย์ก็เริ่มไม่แน่ใจ

จำเป็นต้องวางน้ำหนักไปยัง “พลังประชารัฐ”

หากเส้นทางอันราบรื่นนี้นำไปสู่การปลดล็อกให้ทุกพรรคการเมืองสามารถเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมได้เหมือนกับสถานการณ์ในยามปกติ

นั่นหมายถึงปี่กลองของ “การเลือกตั้ง” ได้เริ่มขึ้น

จึงไม่มีเพียงพรรคอนาคตใหม่เท่านั้นที่จะแสดงบทบาท หากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมจะแสดงบทบาทอย่างเอาการเอางาน

นี่จะเป็นอีก “บทเรียน” ซึ่ง “คสช.” อาจไม่คุ้นเคย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน