สถานะ คนใน ของ ปรีดิยาธร เทวกุล สถานะ “คสช.”

สถานะ คนใน ของ ปรีดิยาธร เทวกุล สถานะ “คสช.”ต่อให้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง หรือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พูดแล้วพูดอีกจนปากฉีกว่าคสช.ต้องการสืบทอดอำนาจ สังคมก็ยังรับฟังและไม่แน่ใจ

แต่พลันที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ออกโรง

เป็นการออกโรงภายหลังคสช.มีมติให้คว่ำยกร่างรัฐธรรมนูญในที่ประชุมสปช.เมื่อเดือนกันยายน 2558 และ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สรุปออกมาอย่างรวบรัด

“เขาอยากอยู่ยาว”

สังคมก็เริ่มล้างหูน้อมรับฟังอย่างให้ความเชื่อมั่น และเมื่อเห็นกระบวนท่านับแต่เดือนกันยายน 2558 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงเดือนธันวาคม 2561 ผู้คนก็ยอมรับว่าเป็นจริง

ทำไมคำพูดของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ จึงมีน้ำหนัก

คําตอบอาจเป็นเพราะ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นด๊อกเตอร์อังดรัวมาจากสำนักฝรั่งเศส อาจเป็นเพราะเคยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการครม.

คว่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเมือง

กระนั้น หากคำนึงถึงสถานภาพของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เป็นรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ตรงนี้ต่างหากที่มากด้วยน้ำหนักและความเชื่อถือ

ยิ่งหากย้อนกลับไปรับรู้ว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เคยเดินออกไปเป่านกหวีดร่วมกับน้องพี่สีชมพู บริเวณแยกปทุมวัน สยามสแควร์ ก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ยิ่งหนักแน่น

หนักแน่นในฐานะที่เป็น “คนใน”

ความเป็น “คนใน” ของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นั่นเองที่ทำให้แต่ละคำพูดของ นายบวรศักดิ์
อุวรรณโณ
น่าเชื่อถือ

โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงความเป็นจริงของ “คสช.”

ก็เหมือนกับกรณีของรัฐธรรมนูญ ความจริง ไม่ว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง ไม่ว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เคยออกมาพูดถึงธาตุแท้ของ “รัฐธรรมนูญ” ว่าเป็นอย่างไร

แต่คนก็ฟังผ่านหูซ้ายทะลุออกหูขวา

แต่พลันที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ในฐานะคนของพรรคพลังประชารัฐออกมาขมวดว่า “รัฐธรรมนูญ” ฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”

เสียงร้อง “อ๋อ” และ “อ้อ” ก็ดังอย่างพร้อมเพรียง

คําถามอยู่ที่ว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ถือได้ว่าเป็นคนในเหมือน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เหมือน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน หรือไม่

คำตอบก็ต้องยอมรับว่า เป็น “คนใน”

เพราะไม่เพียงแต่เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 หากยังเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ย่อมเคยหายใจร่วมรูจมูกเดียวกันกับคมช.และคสช.มา

คลิกอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน