คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ความเห็นภายในพรรคประชาธิปัตย์อันเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมากด้วยความแหลมคม

แหลมคมระหว่าง “หัวหน้าพรรค” กับ “สมาชิกพรรค”

แหลมคมระหว่าง “รองหัวหน้าพรรค” กับ อดีต “ส.ส.” ของพรรค

เหมือนกับความเห็นอันหลากหลายและสวนทางกันซึ่งดำรงอยู่ภายในพรรคประชาธิปัตย์จะสะท้อนความเป็นประชาธิปไตย

ยืนยันว่า ความเห็น “ต่าง” ดำรงอยู่ได้ อย่างองอาจ สง่างาม

แต่หากนำเอา “คำพูด” ของบางคน บางฝ่าย มาสังเคราะห์อย่างแยกย่อย ละเอียดยิบลงไปก็จะตระหนักในความสัมพันธ์ที่อาจจะกลายเป็นปัญหาได้ในอนาคต

นี่คือ “ธรรมชาติ” อันจริงแท้ของ “พรรคประชาธิปัตย์”

ต้องยอมรับว่ามีเส้นทาง 2 สายปรากฏขึ้นและแสดงตัวอย่างเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ปีก 1 เป็นปีกของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ปีก 1 เป็นปีกของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

รูปธรรมแห่งความขัดแย้งก็คือ การที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งภายในพรรคและนำ ส.ส.จำนวนหนึ่งเข้าเคลื่อนไหวในนาม “กปปส.”

ท่าทีของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น่าศึกษา

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปิดทางให้กับ ส.ส.ที่ลาออกไป ขณะเดียวกัน ก็เข้าไปร่วมเป่านกหวีดร่วมกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แต่เป็นไปในทางส่วนตัว มิใช่ในนามพรรค

เหมือนกับจะแยก “กปปส.” กับ “พรรคประชาธิปัตย์” ออกจากกัน

นับจากสถานการณ์กปปส.ห้วงปลายปี 2556 กระทั่งหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ก็เริ่มปรากฏความคิดที่แตกต่างระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับกปปส.เด่นชัดขึ้น

รูปธรรม 1 คือ ในห้วงแห่งการลงประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559

ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือแม้กระทั่ง นายชวน หลีกภัย ไม่ยอมรับต่อร่างรัฐธรรมนูญ

แต่ทางด้านกปปส.โดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เชียร์เต็มพิกัด

ผลก็คือ คะแนนการเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญในภาคใต้ท่วมท้นเว้นแต่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น

สะท้อนอิทธิพล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ครองความเหนือกว่า

เมื่อเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองปรากฏขึ้น การประลองพลังก็ปรากฏตามมา

สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ด้านหลักยังเห็นไปในแนวเดียวกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ที่ผูกพันอยู่กับ

กปปส.กลับเห็นไปแนวเดียวกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

นี่คือประเด็นที่จะเพิ่มความแหลมคมเมื่อใกล้กับ “การเลือกตั้ง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน