คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

การประกาศ “เอาคืน” จาก นายวัฒนา เมืองสุข กำลังสร้างความหงุดหงิดและอาจกลายเป็นโรคระบาดใหม่โรคหนึ่งในสถานการณ์แห่งการปรองดอง สมานฉันท์

เหมือนกับ นายวัฒนา เมืองสุข ไม่ยอมปรองดอง

แต่หากมองไปยังปฏิกิริยาอันเกิดจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยภายหลังการอ่านคำพิพากษาคดีสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อเดือนตุลาคม 2551

ก็อาจจะเข้าใจในแนวโน้มของการปรองดองว่าจะเป็นเช่นใด

เพราะได้เสนอประเด็นเปรียบเทียบให้เกิดขึ้นระหว่างการสลายการชุมนุมเมื่อเดือนตุลาคม 2551 กับการสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

ตรงนี้แหละทำให้บรรยากาศ “เอาคืน” ยิ่งมีความเข้มข้น

ชะตากรรมของกลุ่มผู้ชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับ ชะตากรรมของกลุ่มผู้ชุมนุมของนปช.คนเสื้อแดงมีความแตกต่างกันอย่างมาก

พันธมิตรก่อการตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

ไม่ว่าจะเป็นการยึดทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการยึดสนามบิน ไม่ว่าจะเป็นการยึดสถานที่ราชการ เส้นทางของการดำเนินคดีคดเคี้ยววกวนอย่างยิ่ง

ตรงกันข้าม นปช.คนเสื้อแดงกลับรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว

ทั้งๆ ที่คนเสื้อแดงนปช.ต้องการให้กรณีสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ต้องการให้มีการดำเนินคดีผ่านศาล แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ

จุดต่างนี้เองทำให้กรณีเมื่อปี 2553 ได้รับความสนใจ

มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่า บรรดาแกนนำนปช.คนเสื้อแดงก็จะดำเนินการกดดันป.ป.ช. เช่นเดียวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เพียงแต่ด้วยเป้าหมายที่แตกต่างกัน

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกดดันป.ป.ช.ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคำพิพากษาที่ออกมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม

แต่นปช.คนเสื้อแดงกดดันเพื่อให้มีการรื้อฟื้นคดีเมื่อปี 2553

ต้องการให้ป.ป.ช.สำแดงบทของกรรมการผู้วางตัวเป็นกลางเหมือนกับที่เคยแสดงบทบาทต่อกรณีการสลายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเดือนตุลาคม 2551

การตัดสินใจของ ป.ป.ช.จึงสำคัญเป็นอย่างสูง

ไม่ว่ากรณีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่ากรณีของนปช.คนเสื้อแดง สะท้อนทั้งความขัดแย้งและความสัมพันธ์

ที่แน่นอนก็คือ สัมพันธ์กับ “รัฐประหาร”

ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดยมีพันธมิตรและนปช.คนเสื้อแดงเป็นตัวละครสำคัญ

ทั้งในฐานะเป็นฝ่ายกระทำ ทั้งในฐานะเป็นฝ่ายถูกกระทำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน