“วงค์ ตาวัน”

สูตรการเมืองในอดีตที่ผ่านๆ มา มีบทเรียนที่เห็นกันอยู่เสมอๆ นั่นคือ หลังการปฏิวัติรัฐประหาร มีการตั้งพรรคทหาร เพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของผู้นำคณะรัฐประหาร หรือผู้นำรัฐบาลจากการรัฐประหาร และจุดจบของพรรคแนวนี้คือล้มเหลว หรือก็แค่พรรคเฉพาะกิจที่ไม่ยืนยาว

ความพยายามตั้งพรรคการเมือง เพื่อรองรับการต่อท่ออำนาจของคสช.ในหนนี้ อาจจะพยายามขบคิดกันแล้วอย่างหนัก เพื่อไม่ซ้ำบทเรียนเดิมๆ

ดังนั้นพรรคการเมืองที่กำลังจะตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อภารกิจนี้ จึงแอบอิงโครงการที่เชื่อมกับชาวบ้านในชนบท ซึ่งรัฐบาลคสช.ปูฐานเอาไว้ในระยะเวลาพอสมควร

คือ มีภาพการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนำหน้า

ไม่เท่านั้น ที่พยายามอีกอย่างก็คือ การดูดพรรค การเมือง กลุ่มการเมือง ที่มีอดีตส.ส.อยู่ในสังกัด ชัดเจน และเป็นพรรคหรือกลุ่มที่น่าจะได้รับเลือกตั้ง มีจำนวนส.ส.ที่แน่ชัด

วิธีนี้ คงเรียนรู้จากพรรคทหารในอดีต ที่ไปกว้านตัวนักการเมืองเก่า แต่สภาพไม่ดีนัก และไม่มีฐานมวลชนมั่นคงเพียงพอ

พูดง่ายๆ ว่า เดิมๆ นั้น โดนอดีตนักการเมือง เขี้ยวลากดิน หลอกเอาสตางค์เป็นหลักมากกว่า!

ความพยายามของพรรคพลังประชารัฐดังกล่าว และปฏิบัติการดูดที่กำลังเดินหน้า

จะได้ผลหรือไม่ ยังต้องติดตามกันต่อไป

แต่ขึ้นชื่อว่าอดีตส.ส. ย่อมหมายถึงนักการเมือง ที่คลุกคลีอยู่กับประชาชนในพื้นที่อย่างเกาะติด

ยิ่งนักการเมืองคุณภาพ ยิ่งมีความขยันขันแข็ง รักษา ฐานเสียงไม่เคยหย่อนยาน

ความเป็นนักการเมือง เป็นผู้แทนของชาวบ้านนี่แหละ ย่อมทำให้คนเหล่านี้ รู้จริงว่า ชาวบ้านคิดอะไรอยู่กับการเมืองไทยในวันนี้!?!

การเมืองหลังประชาธิปไตยถูกล้ม อยู่ภายใต้รัฐบาลคสช.มายาวนาน 4 ปีเข้าไปแล้ว

ชาวบ้านพึงพอใจกับอำนาจแบบนี้ หรืออยู่อย่างอึดอัด

โครงการด้านเศรษฐกิจ โครงการประชารัฐ ที่อัดฉีดลงไปตามชุมชนต่างๆ นั้น ได้ผลดีหรือไม่

พูดง่ายๆ ว่า ดีกว่าเหนือกว่าโครงการที่เรียกกันว่าประชานิยมของนักการเมืองที่ผ่านมาหรือไม่!?

สำคัญสุด ตลอด 4 ปี ในยุครัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และโดนทั่วโลกตั้งแง่ จนทำให้เศรษฐกิจการค้าการลงทุนหยุดนิ่ง

กระทบต่อปากท้องชาวบ้านขนาดไหน

ความหิวโหยและความอึดอัดในลมหายใจเสรีภาพ

นักการเมืองรู้ดีที่สุด และจะนำมาซึ่งการตัดสินใจได้อย่างไม่ลังเลว่า จะยืนอยู่กับพรรคไหน

ยอมให้ดูดไปแล้วมีอนาคตแน่นอนหรือไม่!?!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน