พรรคประชาชาติ กับประชามติไม่รับรัฐธรรมนูญ

ชกไม่มีมุม
วงค์ ตาวัน

พรรคประชาชาติ – การเปิดตัวพรรคประชาชาติ ต้องนับว่าสร้างผลสะเทือนไม่ธรรมดาเลยทีเดียว โดยคึกคักไปด้วยนักการเมือง บิ๊กเนม บุคคลที่มีชื่อเสียงทางสังคมทั้งชาวไทยมุสลิมและชาวไทยพุทธ โดยชูความเป็นพรรคที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม พร้อมจะรับเป็นผู้แทนของราษฎร ในสนามเลือกตั้งทั่วประเทศ

แต่ความเด่นพิเศษที่น่าจับตา คงเป็นพื้นที่ 3-4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เนื่องจากหลายคนเป็นนักการเมืองที่เคยได้รับเลือกตั้งหลายสมัย มีคะแนนนิยมในหมู่ชาวมุสลิมอย่างสูง โดยมีจุดยืนอยู่ในพรรคแนวเสรีประชาธิปไตยมาตลอด

ไม่ใช่ฝ่ายสนับสนุนทหาร ไม่ใช่ฝ่ายเรียกหารัฐประหาร

ไม่ว่าจะเป็นนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายวรวีร์ มะกูดี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาฯ ศอ.บต. ในยุคที่ร่วมกับมวลชนได้อย่างลงตัวมากที่สุด!

ขณะที่พื้นที่ชายแดนภาคใต้นั้น ในสถานการณ์ไฟใต้รุนแรง ทำให้กลายเป็นพื้นที่ความมั่นคง บทบาทหลักอยู่กับทหาร

คำถามก็คือ การทำหน้าที่ของกองทัพเพื่อดับไฟใต้นั้น ได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านในพื้นที่มากน้อยเพียงใด

แถม 4 ปีที่ผ่านมา การเมืองในประเทศก็อยู่ภายใต้รัฐบาลทหารคสช.

แล้วผลการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับคสช. เมื่อ 7 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมานั้น

เสียงของคนใน 3 จังหวัดใต้ บ่งบอกอะไรถึงรัฐบาลทหาร!?

หรือสะท้อนอะไรให้เห็นต่อบทบาททหารใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้หรือไม่

เพราะทั้ง 3 จังหวัด เสียงโหวตออกมาชัดเจนว่า ไม่รับรัฐธรรมนูญ สูงกว่ารับ!!

ปัตตานี ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญร้อยละ 64.98 ไม่เห็นชอบคำถามพ่วงร้อยละ 65.67

ยะลา ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญร้อยละ 60.07 ไม่เห็นชอบคำถามพ่วงร้อยละ 60.77

นราธิวาส ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญร้อยละ 63.96 ไม่เห็นชอบคำถามพ่วงร้อยละ 64.62

นอกเหนือจากหลายจังหวัดในภาคอีสาน และในภาคเหนือที่โชว์จุดยืนประชาธิปไตยปฏิเสธรัฐธรรมนูญยุคทหารแล้ว

ก็ 3 จังหวัดใต้นี่แหละ ที่ปฏิเสธรัฐธรรมนูญ ยุครัฐบาลทหารอย่างเด็ดขาด!

ดังนั้นการเกิดของพรรคประชาชาติ ที่อดีตส.ส.ส่วนใหญ่แยกออกมาจากพรรคเพื่อไทย

ย่อมสอดคล้องต้องกันกับกระแสของประชาชนใน ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และน่าจะรวมถึงสงขลาด้วย

ไม่ว่าจะเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับคสช. ไม่ว่าจะเรื่องการทำหน้าที่ของกองทัพในไฟใต้

โอกาสของพรรคประชาชาติจึงน่าจะมีสูง ในหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะใน 3-4 จังหวัดใต้!

อ่านต่อ:

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน