คอลัมน์ ชกไม่มีมุม

วงค์ ตาวัน

การวางระเบิดนั้นเป็นความผิดทางกฎหมายอาญา เมื่อถูกจับกุมได้ก็ต้องดำเนินคดีกันไปตามพยานหลักฐานที่เป็นจริง แต่ขณะเดียวกันกรณีของลุงวิศวะที่ถูกจับกุมได้ ในชั้นนี้น่าเชื่อว่ามาจากความคิดอุดมการณ์ต่อต้านการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างสุดโต่ง

เป็นประเด็นที่คสช.ควรขบคิด อย่างน้อยก็เพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดลัทธิเลียนแบบ

นั่นคือ เมื่อเป็นระเบิดการเมือง อีกด้านก็ต้องแก้ที่การเมืองด้วยเช่นกัน

กรณีลุงที่เป็นผู้ต้องหาระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้านั้น ด้วยเพราะวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบระเบิด เป็นข้อมูลที่เจ้าหน้าที่เก็บรวบรวมเอาไว้ก่อนแล้วว่า เกี่ยวพันกับระเบิดที่หน้ากองสลากเก่า หน้าโรงละครแห่งชาติ ในเดือนเมษายน 2560 แน่

รวมทั้งย้อนไปเมื่อปี 2550 อีก 3 ลูก

ดังนั้นเมื่อจับกุมได้ จึงเชื่อมโยงได้ด้วยพยานหลักฐานไปถึง 6 คดี

แต่ก็น่าสนใจว่า ถ้าหากเป็นไปตามนี้จริง คือ ลุงวัย 62 พัวพันระเบิด 3 ลูกเมื่อปี 2550 แล้วเว้นช่วงมาลงมืออีกที 3 ลูกในปี 2560

ทั้งหมด เป็นช่วงสถานการณ์ที่เป็นยุครัฐบาลทหารนั่นเอง

กรณีระเบิด 2550 นั้น ต้องแยกออกเป็น 2 เหตุการณ์ใหญ่

นั่นคือ ระเบิด 10 จุดทั่วกรุง ช่วงเคานต์ดาวน์ส่งท้ายปี 2549 ขึ้นปี 2550 กรณีนี้ในทางสืบสวนตำรวจรู้กลุ่มชัดเจน

แต่ในทางคดีไปติดเกราะกำบังจนเดินต่อไปไม่ได้!?!

ส่วนที่ลุงวิศวะไปเกี่ยวพันอีก 3 ลูก เป็นช่วงถัดมาจากนั้น คือ ในเดือนเมษายน พฤษภาคม และปลายปี 50 ไม่เกี่ยวกัน

แถมกรณีระเบิดเคานต์ดาวน์ เป็นฝีมือกลุ่มที่ตรงข้ามกับลุงวิศวะนั่นเอง!

ส่วนที่เชื่อว่าลุงวิศวะเกี่ยวข้องกับระเบิด 3 ลูกในปี 2550 นั้น

ตามข่าวระบุว่า ลุงให้การว่าเพื่อประท้วงรัฐบาลทหารยุคคมช. เป็นรัฐบาลจากการรัฐประหารในปี 2549

จากนั้นการระเบิดที่เชื่อว่ามาจากฝีมือของผู้ต้องหารายเดียวกันนี้ มาเกิดอีกครั้งในเดือนเมษายนและ 22 พฤษภาคม 2560

ทิ้งช่วงไป 10 ปี!

ตามคำให้การระบุว่า เพราะแค้นเคืองการปราบม็อบ เสื้อแดงในปี 2553 และต่อต้านรัฐบาลทหารคสช. ที่มาจากการรัฐประหาร 2557

พิจารณาอย่างนี้แล้ว จะเข้าใจปมปัญหาในทางการเมืองได้ไม่ยาก

แน่นอนว่า การหยุดระเบิดการเมือง ด้านหนึ่งด้วยประสิทธิภาพตำรวจในการจับกุม ย่อมทำให้เข็ดหลาบ ไม่มีใครคิดลงมืออีก

แต่อีกด้าน ระเบิดการเมืองจะเกิดเฉพาะเมื่อการเมืองอึมครึมไม่ปกติเท่านั้น

เร่งคลี่คลายให้ปกติ จะหยุดได้อย่างราบคาบ!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน