คอลัมน์ ชกไม่มีมุม

วงค์ ตาวัน

พูดถึงการปฏิรูปตำรวจเมื่อไร จะมีคนกลุ่มหนึ่งงัดเอาประเด็น แยกงานสอบสวนออกจากตำรวจ ขึ้นมาเป็นเรื่องใหญ่ทุกที ราวกับว่าประเด็นนี้แหละที่จะทำให้การปฏิรูปตำรวจสำเร็จเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด

แต่ถ้าฟังคำอธิบายจากพนักงานสอบสวนตัวจริง มีประสบการณ์จริง จะมีอีกมุมมองที่น่าคิด

พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย เลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน ปัจจุบันเป็นผู้กำกับสถานีตำรวจในนครบาล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชำนาญงานสอบสวนแห่งยุคนี้

ได้เคยอธิบายว่า หากจะปฏิรูปแล้วแยกงานสอบสวนออกไปเป็นอิสระจริงๆ เท่ากับจะมีการตั้งหน่วยงานใหม่มา รับงานสอบสวนคดีอาญาขึ้นมาใหม่

ซึ่งประชาชนจะได้รับผลกระทบโดยตรง

เพราะกระบวนการรับแจ้งความเพื่อรวบรวมเรื่องร้องทุกข์จากชาวบ้านนั้น

หน่วยงานที่จะมารับทำงานสอบสวนใหม่ จะต้องทำงานให้ได้ 24 ชั่วโมง มีสถานที่ทำงานทุกแห่งทั่วประเทศไทย เหมือนสถานีตำรวจในปัจจุบัน!

ขณะเดียวกัน ลักษณะของงานสอบสวนไม่ใช่รับแล้วตามอย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมกับฝ่ายอื่นๆด้วย กับงานสืบสวน งานป้องกันปราบปราม งานจราจร เพื่อความสะดวกรวดเร็ว หน่วยงานที่จะมารับผิดชอบใหม่แทนงาน จะทำหน้าที่ดังกล่าว แทนได้หรือไม่

ปัจจุบัน ตำรวจมีพนักงานสอบสวนประมาณ 12,000 นาย ต้องมีการฝึกฝนทดสอบมาใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี ยังไม่รวมไปถึงอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ สถานที่คุมขังผู้ต้องหา งบประมาณ

การที่จะเอางานสอบสวนไปรวมไว้ที่เดียวกับอำเภอหรือที่อื่นๆ ถือว่าคิดผิด

เพราะงานสอบสวนจะไม่สามารถเชื่อมโยงกับฝ่ายอื่นๆ เช่น ฝ่ายสืบสวน ฝ่ายปราบปรามได้เลย ถ้าไม่สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ด้วยว่า ปฏิรูปแล้วจะมีผลต่อประชาชนอย่างไร!?!

ฟังข้อมูลของฝ่ายพนักงานสอบสวนอย่างนี้แล้ว ชาวบ้านอย่างเราๆ ก็ต้องมาคิดต่อว่า ถ้าแยกงานสอบสวนจริงๆ แล้วจะกระทบต่อเราหรือไม่

จะรับแจ้งความได้ 24 ชั่วโมงหรือไม่

สถานที่รับแจ้งความ จะมีกระจายทั่วประเทศ เหมือนเช่นที่ตั้งของสถานีตำรวจในทุกวันนี้หรือไม่

รับแจ้งความเสร็จ พนักงานสอบสวนจะประสานกับตำรวจฝ่ายสายตรวจ ตำรวจสายสืบ เพื่อเร่งติดตามคลี่คลายคดีได้อย่างเช่นทุกวันนี้หรือไม่

ฟังอย่างนี้แล้วก็น่าสงสัยจริงๆ!!

น่าคิดจริงๆว่า ประชาชนจะได้หรือเสียประโยชน์

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่ครม.เพิ่งแต่งตั้ง 36 คน มีพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานนั้น

ถ้ายกประเด็นนี้ขึ้นมาถกเถียง ก็ต้องฟังเหตุผลว่า จะหักล้างกับข้อสังเกตจากฝ่ายตำรวจได้หรือไม่!?

เพราะการปฏิรูป ไม่ควรมีเป้าหมายแค่จะต้องเล่นงานตำรวจ

แต่ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพตำรวจในการดูแลประชาชนเป็นสำคัญ!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน