สู้วิกฤตโควิด-เศรษฐกิจ ยิ่งต้องแก้รัฐธรรมนูญ – ผลงานของรัฐบาลในการแก้ไขสถานการณ์วิกฤต โควิด ที่เกิดกรณีการจัดหาวัคซีนล่าช้า ก่อปัญหายุ่งเหยิงอลหม่านขึ้นมาแทบทุกวี่ทุกวัน ยังไม่รวมถึง เมื่อวัคซีนช้า หยุดโควิดได้ช้า เศรษฐกิจการท่องเที่ยวยิ่งฟื้นได้ช้า อันหมายถึงวิกฤตด้านปากท้อง หนี้สิน การตกงานของประชาชนที่จะหนักหนาสาหัสมากขึ้นไปเรื่อยๆ

ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ น่าจะพอประเมินกันได้ว่า เราควรจะมีรัฐบาลแบบไหนเพื่อเข้ามาบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ได้

รัฐบาลที่เก่งกาจด้านการทหารด้านความมั่นคงหรือ!?

เป็นคำถามที่คนทั่วไปกล่าวขวัญกันมาก เมื่อเกิดความเคลื่อนไหวจากฝ่ายค้านเพื่อเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญกันอีกครั้ง

เพราะท่าทีจากพรรคแกนหลักรัฐบาลและส.ว.นั้น ยังตั้งป้อมปกป้องรัฐธรรมนูญในประเด็นอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ

เท่ากับยังยืนยันว่า ถึงจะมีการเลือกตั้งอีกครั้ง ที่มาของนายกฯ และรัฐบาลก็ยังเหมือนเดิม เสียงของประชาชนที่ไปเลือกตั้งยังไม่ใช่เสียงชี้ขาดต่อไป

เป็นการเน้นย้ำว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกฯ ต่อไปอีกยาวนาน!

จะเอาผู้นำที่มีรากฐานจากกองทัพมาดูแลประเทศต่อไปอีก

ทั้งที่จะต้องเป็นยุคเร่งพลิกโฉมเศรษฐกิจ เพื่อกอบกู้สถานการณ์อันทรุดหนักเนื่องจากโควิด

แถมโควิดยังไม่รู้จะหยุดยั้งได้เมื่อไหร่ จะเกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ อีกหรือไม่ หมายถึงต้องมีมือบริหารด้านสาธารณสุขหยูกยา

แต่ก็ยังจะปกป้องกลุ่มอำนาจเดิมให้กุมอำนาจต่อไปอีก

ทั้งที่จะต้องเป็นยุคของผู้นำมือเศรษฐกิจชั้นเซียน วิสัยทัศน์กว้างไกลเท่าทันโลก บริหารจัดการด้านสาธารณสุขอย่างเชี่ยวชำนาญ!!

แต่ถ้ากติการัฐธรรมนูญไม่เปลี่ยน ยังมีบทเฉพาะกาลให้อำนาจส.ว.อยู่

การเมืองในวันข้างหน้าก็ยังเหมือนเดิมเช่นนี้ต่อไป

ก็ยังมีกลุ่มอำนาจเดิมๆ คงอยู่ต่อไป!

การยกเหตุผลว่า ยังต้องมีอำนาจส.ว.แต่งตั้งนายกฯ ต่อไป เป็นไปตามบทเฉพาะกาลที่เขียนขึ้นมาเพื่อแก้วิกฤตประเทศ

นี่คือข้ออ้างเมื่อ 7 ปีที่แล้วโน้น ซึ่งก็ไม่ใช่ความจริงใน 7 ปีก่อน

แล้วยิ่งความจริงในปัจจุบัน ยิ่งไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจด้านความมั่นคงอำนาจของผู้มาจากกองทัพเลย

นี่คือยุควิกฤตโควิด ต้องมากความสามารถในการจัดหาวัคซีน และต้องเร่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่

อำนาจส.ว.และกลุ่มอำนาจที่เชื่อมโยงกับกองทัพ

เป็นคำตอบของวิกกฤตที่ประชาชนกำลังเผชิญโรคระบาดและธุรกิจการค้าพังพินาศอย่างไร!?

 

โดย วงค์ ตาวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน