“วงค์ ตาวัน”

เหตุการณ์ผู้ป่วยลมชักขับขี่รถ แล้วนำมาซึ่งอุบัติเหตุร้ายแรง ชนกวาดรถราคันอื่นๆไปทั่วท้องถนน จนมีคนตาย 2 ราย บาดเจ็บอีกจำนวนมาก นำมาสู่ความหวาดผวาไปทั่วทั้งสังคม และการวิพากษ์วิจารณ์ถึงหนทางแก้ไขปัญหานี้

เพราะไม่ใช่เป็นรายแรก ก่อนหน้านี้ก็มีอยู่หลายหน

ขณะที่ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า ในประเทศไทยมีผู้ป่วยลมชัก ที่พบว่ามีใบขับขี่รถยนต์อยู่นับแสนคน

อาจจะมีบางส่วนที่ดูแลรักษาจนดีขึ้น หรือรักษาจนหายป่วยแล้ว

แต่ใครที่ไม่ดูแลรักษาตัวเองให้ดี แล้วยังขับขี่รถยนต์อยู่ ก็น่าเป็นห่วง

หมายถึงห่วงผู้คนในสังคมรายอื่นๆ ที่ไม่รู้ว่าขับรถราอยู่ดีๆ จะมีใครที่อาการป่วยกำเริบแล้วควบคุมรถ ไม่ได้ พุ่งมาชนใส่เราเมื่อไร

ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง!

ขณะที่ในวันเดียวกัน ก็มีผู้ที่เคยเจ็บป่วยเกี่ยวกับสมองอีกราย ก่อเหตุใช้ของแข็งทุบกระจกรถคู่กรณี เพราะโมโหที่ถูกบีบแตรใส่

ต้นตอคือการควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้

นี่ก็อีกปัญหาที่ก่อความรุนแรงบนท้องถนน

แล้วยังมีอีกหลายๆโรค เช่น โรคหัวใจ ที่แพทยสภา พยายามเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบก เพิ่มเป็นมาตรการในการออกใบขับขี่

คงถึงเวลาแล้ว ที่กรมการขนส่งทางบก ตำรวจ และแพทย์ จะต้องจัดประชุมหามาตรการป้องกันเสียที!

ไม่ใช่แค่พูดกันลอยๆ หลังเกิดเหตุ แล้วก็มาพูดกันแบบนี้อีก เมื่อมีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้นในคราวหน้า

แต่เรื่องนี้ต้องแก้กันหลายทาง

มาตรการของฝ่ายรัฐ ในการควบคุมกลั่นกรองผู้คนที่จะมาถือพวงมาลัยรถ ก็ประการหนึ่ง

ส่วนตัวของผู้ป่วยและครอบครัวเอง ต้องช่วยแก้ หากรู้ว่าสมาชิกในบ้านเจ็บป่วยด้วยโรคลมชักหรือ โรคอื่นๆ ที่อาจจะทำให้หมดความสามารถในการควบคุมรถอย่างกะทันหันได้

ต้องห้ามไม่ให้ขับรถเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นอาจจะตกเป็นผู้ต้องหาทำให้คนตายและเจ็บหมู่ได้

แต่เหนืออื่นใด การสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่ครบพร้อม จะแก้ได้อย่างถึงรากถึงโคน

ผู้คนจะหันมาใช้บริการรถสาธารณะ เป็นส่วนใหญ่

คนที่เจ็บป่วยก็เลิกขับรถเองได้เลย ถ้าไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก

แล้วพูดกันตรงๆ สภาพจราจรแออัดในกทม.หรือเมืองใหญ่ๆ

คนที่ไม่ป่วย ก็จะกลายเป็นคนป่วยขาดสติระงับอารมณ์ไม่ได้อยู่ทุกเวลานาที!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน