มีเหตุสลดที่เกี่ยวกับอาวุธปืนเป็นข่าวสะเทือนขวัญ 2 รายซ้อน รายหนึ่งเกิดขึ้นในหน่วยทหาร อีกรายเกิดขึ้นในห้องเรียน ภายในโรงเรียน

คดีนักเรียนชั้น ม.3 ถูกกระสุนปืนเสียชีวิตในห้องเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ ซึ่งกระจ่างชัดว่า ไม่ใช่เหตุคีย์บอร์ดระเบิดใส่ แต่มาจากกระสุนปืนที่ยิงเข้าศีรษะ แล้วแฉลบไปถูกคีย์บอร์ด

จากพยานหลักฐานล่าสุด บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นการทำปืนลั่น โดยผู้ก่อเหตุลืมไปว่า ซ่อนปืนไว้ในเสื้อกันหนาว ทั้งเป็นปืนไทยประดิษฐ์ซึ่งไม่มีระบบป้องกันการลั่น

แล้วยังข้อความที่แช็ตหาเพื่อนรุ่นพี่หลังเกิดเหตุใหม่ๆ ให้มาด่วน ผมทำปืนลั่นใส่เพื่อน

แต่ยังต้องตรวจสอบให้กระจ่างชัดที่สุดว่า เป็นการเจตนายิงหรือแค่ปืนลั่นจริงๆ

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญคือ ทำไมเด็กนักเรียนแค่ชั้น ม.3 จึงพกพาอาวุธปืนมาเรียน!!?

ในชั้นต้น เด็กอ้างว่า พกไว้ป้องกันตัวจากกลุ่มคู่อริ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็เชื่อว่าเป็นเด็กนักเรียนอยู่ในกลุ่มสุ่มเสี่ยง

เด็กวัย 15 ปี อาจจะอยู่ในกลุ่มสังคมเพื่อนที่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรง

เด็กวัยรุ่นวัยเริ่มห้าว ถ้าอยู่ในแวดวงเพื่อนผิดที่ผิดทาง อาจจะมาจากสภาพชีวิตครอบครัว ฐานะทางสังคม ก็มักมีโอกาสเดินผิดพลาด

โยงไปถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่องว่างทางชนชั้น

รวมทั้งระบบการศึกษา ที่ควรทำให้เด็กมีความหวังในอนาคต เพราะแม้แต่เด็กสังคมชนชั้นกลาง ยังอยากจะย้ายประเทศ ด้วยหมดหวังกับประเทศนี้!!

ส่วนเหตุสลด ในวิทยาลัยการทัพบก จากกรณีจ.ส.อ.ใช้อาวุธปืนยิงเพื่อนทหารตาย 2 ศพ ซึ่งน่าจะมาจากการป่วยจิต

เป็นเหตุสะเทือนขวัญเพราะเกิดในหน่วยงานทหาร เป็นข้าราชการที่เข้าถึงอาวุธปืนได้ง่าย พกพาอาวุธปืนได้

นักจิตวิทยามองว่า ในองค์กรที่มีข้อเด่นคือการบังคับบัญชา มีจุดอ่อนคือ ผู้ที่มีปัญหาไม่สามารถพูดอะไรออกมาได้ หรือมีการใช้อำนาจมากเกินไป!

นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต มองเหตุการณ์นี้ว่า หน่วยงานเหล่านี้ต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด

ทำให้การใช้อำนาจไม่ถูกต้องเกิดขึ้นน้อยที่สุด และให้คนทำงานคนปฏิบัติมีช่องทางพูดได้ สะท้อนปัญหาได้ ขอคำปรึกษาได้!!

ฟังจากนักจิตวิทยาแล้ว มองได้ว่า หน่วยงานที่ใช้อาวุธ ควรตรวจสอบระบบบังคับบัญชา

เจ้านายต้องไม่ใช้อำนาจเกินเหตุ รวมไปถึงมีนักจิตวิทยาคอยดูแลเจ้าหน้าที่ที่มีปัญหา

หน่วยงานที่มีอาวุธ ต้องระมัดระวังระบบอำนาจนิยมให้มาก ทั้งกระทำต่อกำลังพลตัวเอง และกระทำต่อสังคมการเมือง การใช้อาวุธยึดอำนาจ!

ย้อนกลับไปที่ความเห็นของนายแพทย์ยงยุทธ ยังพูดถึงภาพรวมการใช้ความรุนแรงของสังคมไทย

ในความยากลำบากทั้งโควิด และเศรษฐกิจ เติมความเครียดให้กับคนจำนวนมาก

แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มาจากผู้ป่วยจิตเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ โดย 95% เป็นความรุนแรงจากคนที่ไม่ได้ป่วย

มาจากความเครียดสูง ขาดความยับยั้งชั่งใจ

กลุ่มเสี่ยงใหญ่ในกรณีนี้ ดังเช่น หน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคง ง่ายต่อการใช้อาวุธ

ต้องพยายามมองภาพรวมของสังคม ไม่ใช่เอาพื้นที่ตัวเองเป็นตัวตั้ง ต้องเอาภาพใหญ่ของสังคมเป็นตัวตั้ง

จะได้มีความยับยั้งชั่งใจ ลดปัญหาการใช้ความรุนแรงลงไปได้!

วงค์ ตาวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน