ลมหนาวเริ่มมาเยือนแล้ว เป็นไปตามฤดูกาลเมื่อเข้าสู่เดือนตุลาคม แต่ความที่ในปีนี้มีฝนตกยาวนานมากกว่าปกติ ทำให้เราต้องเย็นยะเยือกทั้งจากสายฝน และจากการเริ่มต้นของฤดูหนาว

เดือนตุลาคมสำหรับสังคมไทย ยังมีความหมายเป็นเดือนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน

มีการลุกขึ้นสู้ของมวลประชามหาศาล ขับไล่รัฐบาล 3 ทรราช ยอมพลีเลือดเนื้อและชีวิต จนได้รับชัยชนะ เบิกม่านสู่ประชาธิปไตย

นั่นคือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

แต่ผ่านไปได้เพียง 3 ปี ขบวนการนักศึกษาประชาชนที่เป็นพลังหลักในการต่อสู้เพื่อสร้างสังคมใหม่ ก็ถูกปราบกวาดล้างนองเลือด ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ดังนั้น 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 จึงเป็นวันที่บันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของประชาชน!

ที่ยังต้องมารำลึกกันถึงเหตุการณ์การต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนในเดือนตุลาคมในทุกๆ ปี

เพราะการต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่เสรีจริง สร้างสังคมใหม่ที่ดีจริง ยังไม่บรรลุ

ต้องมารำลึกถึงจิตใจของวีรชน เพื่อคนรุ่นหลังจะเดินหน้ากันต่อไปอย่างไม่เกรงกลัวสิ่งใด!!

เพราะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยเสรีเท่านั้น จึงจะทำให้ประเทศเราเจริญก้าวหน้าได้จริง ไม่ล้าหลังหลุดโลก เช่นในยุคสมัยนี้

ศึกษาจากสังคมโลกก็ชัดเจนว่า ประเทศที่เจริญก้าวหน้า ประชาชนมีเสรีมีสวัสดิการที่ดีในชีวิต คือประเทศที่มีประชาธิปไตยจริง ไม่มีทหารออกมารัฐประหาร!!

การเรียนรู้เหตุการณ์เดือนตุลาคม สำหรับประชาชน เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนต่อไป

สำหรับกลุ่มผู้มีอำนาจ ยิ่งต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะจุดจบของจอมพลถนอม จอมพลประภาส และพ.อ.ณรงค์ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม คืออะไร อย่าได้เดินซ้ำ

จุดจบของ 3 ผู้มีอำนาจทางทหาร เมื่อปี 2516 เกิดจากการผูกขาดอำนาจยาวนานเกินไป จนถึงจุดพังทลายด้วยพลังของประชาชน!

บังเอิญเหลือเกินที่รัฐบาลในวันนี้ มีรากฐานมาจากรัฐบาลทหาร ที่ยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 แล้วสืบทอดอำนาจด้วยกติการัฐธรรมนูญที่ให้ 250 ส.ว. มีอำนาจกำหนดนายกฯ

ที่ต้องคิดคือ ในคดีการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งรอดพ้นมาได้

ในคำวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างน้อยที่ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ครบ 8 ปีแล้วนั้นได้ระบุว่า

“การจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองยาวนานเกินไป”

“ยิ่งอยู่นานก็จะยิ่งสามารถสร้างรากฐานอำนาจไว้กับตนเองและพวกพ้อง นำไปสู่การผูกขาดอำนาจ ยึดมั่นในตัวบุคคลมากกว่าหลักการประชาธิปไตย อันอาจเป็นเหตุให้เกิดวิกฤตทางการเมืองได้”

อ่านแล้วเห็นได้ว่า วิกฤต 14 ตุลาฯ เกิดจากการผูกขาดอำนาจ

หวังว่าผู้มีอำนาจยุคนี้ จะได้ศึกษาจากรุ่นพี่ และอย่าได้เดินซ้ำอีก!!

วงค์ ตาวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน