เห็นความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนของส.ส.ในพื้นที่กทม. เตรียมตัวย้ายพรรคกันจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะจะย้ายออกจากสังกัดพรรคหลักของรัฐบาล ประเด็นสำคัญคือ กระแสพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลนั้น ตกต่ำลงไปอย่างมากสำหรับชาวเมืองหลวง

ย้อนดูได้จาก ปรากฏการณ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่เลือกนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อย่างถล่มทลาย กว่า 1.3 ล้านเสียง

เป็นการเลือกตั้งเมื่อ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ชี้วัดอยู่แล้วว่าคนกทม.ต้องการการเปลี่ยนแปลง

แถมปฏิเสธผู้สมัครในสายนายกฯ สายรัฐบาล และสายกปปส. อย่างหนักหน่วง มีตัวเลขคะแนนที่ได้รับเป็นเครื่องบ่งบอก

ตั้งแต่เมื่อเห็นผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ดังกล่าวแล้ว เชื่อว่าส.ส.ในสังกัดพรรครัฐบาลน่าจะตัดสินใจอะไรได้ทันที!

อันที่จริง ความหมายของวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คือ 22 พฤษภาคม มีส่วนตอกย้ำคนเมืองหลวงจำนวนไม่น้อย ให้นึกถึงเหตุการณ์ที่พล.อ.ประยุทธ์ ก่อรัฐประหาร

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่มีจุดตั้งต้นมาจากการชุมนุมของกปปส.

แถมเป็นการชุมนุมที่ไม่ยอมเลือกทางออกแนวทางประชาธิปไตย คือ ไม่รับการยุบสภา ไม่ยอมให้เลือกตั้งใหม่

ทั้งที่การยุบสภาคือการคืนอำนาจให้ประชาชนไปตัดสินใจใหม่

กลับไม่ยอมให้คืนอำนาจต่อประชาชน เลือกจะให้เอาอำนาจไปให้ทหารแทน!

8 ปีที่ผ่านมา พิษภัยจากการรัฐประหาร ทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่ใช่นักบริหารประเทศที่เก่งกาจสายตากว้างไกล

ผลกระทบด้านปากท้องจากเศรษฐกิจที่ทรุดต่ำ เพราะไม่มีมือเศรษฐกิจที่คิดทันโลก

เชื่อว่าประชาชนจำนวนมาก เข้าใจชัดเจนมากขึ้นว่า การเมืองไม่ดี ไม่มีประชาธิปไตย เศรษฐกิจย่อมไม่ดีตามไปด้วย

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จึงเป็นเสียงสะท้อนว่า ประชาชนไม่เอาแนวทางที่ล้าหลังแบบเดิมอีกแล้ว

ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นสนามเลือกตั้งส.ส.ในกรุงเทพฯ น่าจะมีแนวโน้มไม่ต่างจากตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ชัชชาติ

ทั้งคงไม่แค่ชาวกรุงเท่านั้น กระแสทำนองเดียวกันนี้คงลุกลามไปทั่ว วัดได้จากอารมณ์ความรู้สึกของคนหลายๆ จังหวัด ที่ยินดีกับคนกรุงเทพฯ ซึ่งสามารถเลือกผู้ว่าฯ ในฝันได้

ผลสะเทือนจากม็อบและการรัฐประหารปี 2557

จะนำมาสู่ความต้องการการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่

เข็ดขยาดและไม่เอาเด็ดขาดกับพรรคที่เป็นขบวนการสมคบคิดฉุดประเทศล้าหลัง!

วงค์ ตาวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน