ความที่ 250 ส.ว. ยังมีอำนาจในการร่วมโหวตแต่งตั้งนายกฯ ซึ่งโยงถึงผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลด้วย อันเป็นพิษภัยจากรัฐธรรมนูญฉบับคสช.

ทำให้ส.ว.ยังเป็นอาวุธสำคัญของเครือข่ายอำนาจอันไม่เป็นประชาธิปไตย

จึงไม่น่าแปลกใจที่บรรดาวุฒิสมาชิกคนดังๆ แสดงท่าทีอย่างโจ่งแจ้งว่า จะสกัดกั้นไม่ให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งที่เป็นพรรคซึ่งประชาชนเลือกเข้ามาจนได้ส.ส.เป็นอันดับ 1

ต่อต้านพรรคสีส้มยังไม่พอ ล่าสุดเสนอสูตรการเมืองสุดพิสดาร เรียกร้องรัฐบาลแห่งชาติ

คงอยากให้พรรคลุงๆ ได้เข้าร่วมรัฐบาลด้วยทั้งที่พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งอย่างราบคาบ!

นายจเด็จ อินสว่าง อดีตข้าราชการใหญ่ เป็นผู้ว่าฯ ในหลายจังหวัด เข้ามาเป็นส.ว.ในยุคคสช. เป็นผู้เสนอแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติ

ไม่รู้เพราะผูกพันกับลุงๆ คสช.อย่างมาก หรือรับไม่ได้ที่ก้าวไกลจะปฏิรูปราชการ จะให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ








Advertisement

ก็เลยประกาศต้านนายพิธา และเรียกหารัฐบาลแห่งชาติ

ไม่สนใจว่าประชาชนหลายสิบล้าน เพิ่งไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แสดงเจตนารมณ์ต้องการพรรคการเมืองแนวประชาธิปไตยมา บริหารประเทศ

ผลักข้อเสนอที่ไม่สอดคล้องกับความจริง ไม่ยืนอยู่กับเสียงของประชาชน ลงเอยก็คงเป็นเพียงแค่รัฐบาลแห่งชาติหน้า!

คำว่ารัฐบาลแห่งชาตินั้น เกิดขึ้นในประเทศที่เกิดวิกฤตร้ายแรง เจอศึกสงครามขนาดใหญ่ เผชิญปัญหาเศรษฐกิจแสนสาหัส หรือเพราะการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง

ทั้งหมดนี้ ไม่มีอะไรเข้าข่ายสำหรับบ้านเมืองเราในเวลานี้

และเป็นเพียงแค่ความคิดดิ้นรนของฝ่ายที่ทำใจไม่ได้กับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง

เรื่องประหลาดๆ ในช่วงนี้ มีให้เห็นหลายเรื่อง

อย่างกรณีนักร้องไปยื่นร้องว่านายพิธาขาดคุณสมบัติเนื่องจากการถือหุ้นสื่อ เชื่อกันว่าอาจจะเป็นอีกดาบไว้จัดการสกัดพรรคสีส้ม

ไปๆ มาๆ นายวิษณุ เครืองาม มือกฎหมายของฝ่ายที่กำลังจะสิ้นสุดอำนาจ ก็ออกมาวิเคราะห์คำร้องเรียนนี้ให้เกิดความมึนงงกันไปทั่ว

มองว่าประเด็นร้องคุณสมบัตินายพิธา ถ้าไปร้องโยงกับการที่นายพิธาเป็นผู้รับรองผู้สมัครส.ส.ของก้าวไกลทั้งหมด

ถึงขั้นเห็นว่า อาจทำให้ต้องเลือกตั้งซ่อมใหญ่ทั่วประเทศ

เอากันเข้าไป รัฐบาลแห่งชาติก็มา เลือกซ่อมทั่วประเทศก็มา

ไม่เกรงใจประชาชนเจ้าของอำนาจการเมืองที่เพิ่งแสดงออกในการเลือกตั้งเลยหรือ!?

วงค์ ตาวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน