ประเด็นที่กลายเป็นข่าวในวันเด็กแห่งชาติที่ผ่านมา เมื่อมีการนำการ์ดอวยพรจากเด็กๆ ทั่วประเทศ ที่ส่งมาถึงนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เนื่องในวาระวันปีใหม่และวันเด็ก ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะ

หนึ่งในส.ค.ส.อวยพร จากเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เขียนข้อความว่า “ขอให้ท่านนายกฯ สุขภาพแข็งแรง”

พร้อมกับมีข้อความในวงเล็บด้วยว่า เงินดิจิทัลจะได้ตอนไหน

ทำให้นายกฯ เศรษฐา ต้องตอบข้อถามนักข่าวในประเด็นนี้ว่า ถ้าเด็กม.4 มีอายุถึง 16 ปี ก็มีสิทธิ์ได้เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทด้วย

ทั้งหลายทั้งปวง สะท้อนให้เห็นว่า กระแสความต้องการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทนั้น ยังไม่จางหายไปไหน

คงต้องไปดูกันว่า ในหมู่เด็กนักเรียนมัธยมที่อายุถึง 16 ปีมีสิทธิ์นั้น มีมากน้อยเพียงใด!?

มองในแง่ที่ว่า เด็กมัธยม 4 ที่เข้าเกณฑ์ได้รับดิจิทัลวอลเล็ต คงต้องการได้สิทธิ์นี้

หรือเด็กมัธยม 4 ที่อายุยังไม่ถึง แต่เรียกร้องสิทธิ์นี้ แทนพ่อแม่พี่น้องคนในครอบครัว

แต่ทั้งหมด เข้าใจได้ไม่ยากว่า เศรษฐกิจการค้าขายฝืดเคืองจริงๆ จนต้องพากันเรียกหา เงินดิจิทัลวอลเล็ต

ก่อนหน้านี้ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ได้ออกมาสนับสนุนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตด้วยตัวเอง

โดยเจ้าสัวธนินท์มีมุมมองว่า เศรษฐกิจโลกไม่ปกติ ขณะที่ดิจิทัลวอลเล็ต คือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะไม่ปกติ!

เจ้าสัวเชื่อว่า จะไม่เป็นการเสียวินัยทางการคลัง

เพราะไทยมีวินัยการคลังอยู่ในอันดับท็อปของโลก มีหนี้ต่อจีดีพีเพียง 61% เท่านั้น

ทั้งยังเน้นย้ำว่า อย่าไปกลัวเงินเฟ้อ มองว่าเงินฝืดอันตรายกว่า

แม้จะมีการโจมตีว่า เจ้าสัวจะได้โอกาสจากดิจิทัล 1 หมื่นบาท ร้านสะดวกซื้อจะโกยเงินมหาศาล

แต่ความจริงแล้ว โครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ไม่ได้บังคับว่าต้องเข้าสะดวกซื้อ ร้านเจ้าสัว

สามารถเข้าร้านชำ ร้านริมถนน ไปจนถึงรถพุ่มพวงด้วย

การกำหนดพื้นที่ใช้จ่ายในอำเภอตามบัตรประชาชน คือ การกระจายรายได้ลงชุมชนอย่างดี!

ยิ่งหมู่บ้านห่างไกล ไม่มีสะดวกซื้อ จะเป็นโอกาสของรถพุ่มพวงโดยตรง

ประโยชน์ได้ทั้งเจ้าสัว ไปจนถึงรถพุ่มพวง ไม่ได้ผูกขาดเฉพาะใคร

แถมไม่แค่เจ้าสัวและรถพุ่มพวงที่รอคอย ยังมีเด็กม.4 ที่มาร่วมรอคอยอีกด้วย!!

วงค์ ตาวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน