เหตุการณ์ปะทะกันที่บริเวณทางเชื่อมรถไฟฟ้าสถานีสยาม ระหว่างกลุ่มทะลุวังและกลุ่มศปปส.หรือศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน ต่อยตีกันอลหม่านเกือบครึ่งชั่วโมง วุ่นไปถึงร้านค้าต่างๆ ต้องปิดประตูสถานีรถไฟฟ้ากันวุ่นวาย

สร้างความวิตกกังวลตามมาจากผู้คนจำนวนมาก เพราะอาจพัฒนาความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ดังที่มีการโพสต์ข้อความตามมาหลังจากนั้นในโลกออนไลน์ ให้ใช้ความรุนแรงมากขึ้นกับกลุ่มทะลุวัง เช่น คราวหน้าจับโยนลงจากสกายวอล์กจะได้จบ แบบนี้บ่งบอกแนวโน้มที่ไม่ดี

ยิ่งเมื่อความขัดแย้งระหว่าง 2 กลุ่มดังกล่าว เป็นประเด็นสถาบันเบื้องสูง ยิ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีความรู้สึกมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก

ทำให้นึกถึงภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นทันที

บ้านเมืองเราไม่ควรมีเหตุการณ์รุนแรงป่าเถื่อนเช่นนั้นอีก!!

ถ้ามองเฉพาะเหตุการณ์ปะทะกันที่สกายวอล์ก จุดเริ่มต้นมาจากการที่มวลชนกลุ่มหนึ่ง เข้ามาประชิดอีกฝ่าย

มาด้วยอารมณ์ดุเดือดแบบนั้น ก็ต้องนำมาสู่การต่อยตีกันทันที

มวลชนที่คิดต่างกันอย่างสุดขั้ว ถ้าถึงเนื้อถึงตัวกันเมื่อไหร่ ความรุนแรงต้องเกิดขึ้นแน่นอน!!

แต่ถ้ามองย้อนไป มีความขัดแย้งสั่งสมมาตลอด ระหว่างความคิดต่าง และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมาเกิดกรณีแหลมคมเมื่อไม่กี่วันก่อน อาจจะเป็นชนวนที่นำมาสู่การแตกหักดังกล่าว

จึงยิ่งน่าห่วงใยอย่างมาก สำหรับประเด็นปัญหาความขัดแย้ง 2 กลุ่มนี้ ไม่ควรปล่อยให้ลุกลามต่อไปสู่ขั้นรุนแรงถึงชีวิตเลือดเนื้อ!

เท่าที่เห็น เริ่มมีการออกมาเตือนสติ ประเด็นท่าทีในการเคลื่อนไหว ต้องมีขอบเขตเหมาะสม มีวุฒิภาวะ

ถ้านำไปคิดต่อ นำไปทบทวน น่าจะเป็นเรื่องดี

การเคลื่อนไหวบางประเด็น ถ้าล้ำเส้นเกินไป จะกลายเป็นกระแสตีกลับ และลุกลามต่อไปถึงฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เช่น สส.ที่ไปเป็นนายประกันให้ในคดีเดิมๆ จะมีผลกระทบไปด้วย!!

ขณะเดียวกัน อีกฝ่ายนั้น ควรทบทวนท่าทีที่มีแนวโน้มใช้กำลังมากกว่าการพูดจา

สุดท้ายแล้วต่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงแบบ 6 ตุลาฯ ก็ไม่จบ

ความแตกแยกจะพัฒนาไปสู่รูปแบบอื่น ที่หนักหนาสาหัสกว่า เข้าป่าจับปืนรุนแรงมากขึ้น

การต่อต้านกลุ่มทะลุวัง มีได้หลายแนวทาง ยึดหลักสันติวิธีน่าจะดีที่สุด

ไม่ทำให้บรรยากาศบ้านเมืองโดยรวมเสียหาย ไม่กระทบธุรกิจการค้า การท่องเที่ยว

ตีกันกลางย่านการค้าใหญ่ ในเที่ยงวันเสาร์แบบนั้น ไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย!!

วงค์ ตาวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน