เมืองไทย 25 น.

ทวี มีเงิน

รัฐบาลอาจจะน้อยใจว่าทำไมเอกชนไม่ยอมลงทุน ทั้งที่รัฐบาลก็ได้นำร่องแล้ว จะว่าไปแล้วตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งแทบไม่มีการลงทุนจากภาคเอกชน โดยเฉพาะ “ภาคการผลิต” หลังปี’40 “กำลังการผลิต” ภาคอุตสาหกรรมของไทยอยู่ราวๆ 60% กว่าๆ และเคยพุ่งสูงสุด 80% กว่าๆ ขณะที่เอกชนลงทุน เฉลี่ยราวๆ 40% ของจีดีพีหลังวิกฤตการลงทุนก็ลดลงต่อเนื่องทุกวันนี้แค่ 19% จีดีพีเท่านั้น

จากการที่เอกชนไม่ลงทุนเพิ่ม การส่งออกลดลง จึงพยายาม “ลดต้นทุน” เพื่อให้เหลือกำไรให้ผู้ถือหุ้น ซึ่งโดยทั่วไปมักจะสำคัญกว่าพนักงาน ฉะนั้นรูปแบบการทำงานจึงเปลี่ยนไปหันมาใช้ระบบ “เอาต์ซอร์ซ” หรือ “จ้างคนนอก” มากขึ้น แรกๆ จะเป็นพนักงานระดับที่ไม่ต้องใช้ทักษะมากนัก เช่น คนขับรถ แม่บ้านระยะหลังๆ หลายบริษัทใช้ “เอาต์ซอร์ซ” เกือบหมด จะเหลือแค่ผู้บริหาร การตลาด บัญชี เลขาฯ เท่านั้น

ส่วนเรื่องการผลิตและอื่นๆ จะให้คนนอกมาทำแทน

แต่ในบางบริษัทที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่นอกจาก “เอาต์ซอร์ซ” แล้ว ก็อาจใช้วิธีตั้งบริษัทลูกเพื่อมารับพนักงานแทนบริษัทแม่ เป็นการแก้ปัญหาเงินเดือนพนักงานสูงๆ เช่น บริษัทแม่พนักงานใหม่ 2 หมื่นกว่าบาท งานในตำแหน่งเดียวกัน แต่รับสมัครผ่านบริษัทลูกเริ่มต้นที่ 1.5 หมื่นบาท ส่วนสวัสดิการ รายได้อื่นๆ บางบริษัทก็ให้ บางบริษัทก็ไม่มี แต่พนักงานที่ผ่านบริษัทลูกไม่ถือว่าเป็นพนักงานเป็นแค่ลูกจ้าง นอกจากวิธีนี้แล้วบางบริษัทก็ให้ “เอเยนซี่” หรือ “บริษัทตัวแทน” เป็นคนคัดเลือกพนักงานให้ ส่วนเงินเดือน สวัสดิการ บริษัทที่เป็นตัวแทนเป็นผู้รับผิดชอบแทนบริษัทที่ว่าจ้าง เงินเดือนจะต่ำกว่าพนักงานบริษัทที่ว่าจ้าง สวัสดิการอาจไม่มีหรือก็มีน้อยกว่า

นอกจากนี้ยังมีรูปแบบ “เท็ม” หรือ “พนักงานชั่วคราว” จะทำงานไม่เต็มเวลา สัปดาห์ละ 2-3 วัน หรือรับงานมาทำเป็นจ๊อบๆ ไม่มีสวัสดิการ ไม่ขึ้นเงินเดือน สัญญาปีต่อปี กระแสการจ้างงานในรูปแบบต่างๆ นี้กำลังเป็นที่นิยม บริษัทต่างๆ ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ คนทำงานก็อาจจะชอบ เพราะไม่ต้องทำงานเต็มเวลา แรงงานประเภทนี้น่าจะเรียกว่า “แรงงานใช้แล้วทิ้ง” อนาคตไม่แน่นอน ไม่มั่นคง

ดูเผินๆ อาจจะไม่มีอะไร แต่ในมุมหนึ่งกำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่น่าห่วงอย่างมาก เพราะเมื่อคนกลุ่มนี้เกษียณ จะไม่มีเงินออมเก็บไว้ใช้ ไม่มีสวัสดิการในการดูแลยามแก่ อนาคตไม่มั่นคง ขณะที่รัฐก็ไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือ

ชีวิตของคนเหล่านี้จะยิ่งยากลำบาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน