วงล้อเศรษฐกิจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ในช่วงราว 4 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนผ่านจากระบบ 2G สู่ 3G และในปีนี้ที่มีการเริ่มเปิดให้บริการ 4G ตลาดโทรคมนาคมแบบไร้สายของไทยโดยภาพรวมมีการขยายตัวโดยเฉลี่ยอยู่เพียง 2.9% ต่อปี (CAGR ตั้งแต่ปี 2556-2559) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับในอดีตที่มีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยสูงมากกว่า 10% ต่อปี

นั่นเป็นเพราะรายได้จากการให้บริการเสียง(Voice) หดตัวลงเป็นอย่างมากจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคไทยที่นิยมติดต่อสื่อสารกันด้วยสื่อสังคมออนไลน์อย่างไลน์และเฟซบุ๊กกันมากขึ้น โดยหดตัวลงราว 29.8% ต่อปี (CAGR ตั้งแต่ปี 2556-2559)

การเติบโตของตลาดโทรคมนาคมแบบไร้สายของไทยในปัจจุบันได้อาศัยแรงหนุนมาจากรายได้การให้บริการสื่อสารข้อมูล(Data) เป็นหลัก อันเนื่องมาจากผู้บริโภคไทยมีความต้องการเข้าใช้อินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต ในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น

ในระยะข้างหน้า มองว่าตลาดโทรคมนาคมแบบไร้สายของไทยในปี 2560 น่าจะยังมีการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 มูลค่าตลาดโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 232,937-237,160 ล้านบาท ขยายตัวในกรอบแคบราว 3.6-5.5% (ค่ากลาง 4.6%) จากปี 2559 ที่คาดว่าจะขยายตัวราว 5.1% โดยได้รับปัจจัยผลักดันหลักจากตลาดการให้บริการสื่อสารข้อมูลที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การขยายตัวของตลาดการให้บริการสื่อสารข้อมูลในปี 2560 นั้น มองว่าจะมาจากแรงหนุนหลัก 3 ประการ คือ 1.กระแสความนิยมในการเข้าใช้โมบายบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตโครงข่าย 3G/4G ทุกที่ ทุกเวลา

2.การใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอย่างเข้มข้นของกลุ่ม ผู้ประกอบการโทรคมนาคมแบบไร้สายภายใต้ภาวะการแข่งขันที่รุนแรง เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการข้อมูลเพิ่มมากขึ้น และ 3.ธุรกิจเกิดใหม่อย่างธุรกิจดิจิตอลเทค สตาร์ตอัพมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

มองว่าในปี 2560 กลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมแบบไร้สายน่าจะมีแนวโน้มที่จะแสวงหาโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ มาเสริมร่วมกับการให้บริการสื่อสารข้อมูลอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้จากแหล่งธุรกิจอื่นและชดเชยรายได้จากการให้บริการเสียงที่ลดลงเป็นอย่างมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน