เมืองไทย 25 น.

ทวี มีเงิน

ในฐานะสมาชิกกองทุนประกันสังคมเคยจะสะท้อนปัญหาหลายครั้งแต่ก็ไม่สบโอกาส กระทั่ง “ประชาชาติธุรกิจ” พาดหัวข่าว “รื้อพอร์ตประกันสังคม 1.4 ล้านล้าน ดึงมืออาชีพลงทุน อสังหาฯ ไทยและเทศ” สาระหลักคือจะยกเครื่องการ หารายได้ของกองทุนใหม่ ปัจจุบันในพอร์ตมีเม็ดเงินราวๆ 1.4 ล้านล้านบาท

เม็ดเงินนี้ไม่ได้เก็บกองไว้เฉยๆ ได้นำไปหาประโยชน์โดยไปฝากแบงก์ ลงทุนในหุ้นเมื่อก่อนผลตอบแทนค่อนข้างดีราวๆ 8-9% แต่หลังๆ ดอกเบี้ยก็ต่ำ ลงทุนหุ้นก็ไม่ดีผลตอบแทนกองทุนเหลือไม่เกิน 5% ยิ่งในปีที่แล้วเหลือแค่ 2.5% เท่านั้น จึงแก้กฎหมายให้ลงทุนได้กว้างขวางขึ้นจะได้มีผลตอบแทนเข้ากองทุนมากขึ้น ทุกวันนี้เม็ดเงินที่มีอยู่ไม่พอรับมือสังคมไทยที่กำลังจะเป็น “สังคมคนชรา” เกิดน้อยตายยาก สมาชิกก็หายไปเรื่อยๆ

แก้กฎหมายเพื่อจะทำให้ลงทุนสะดวกขึ้น เช่น ไปลงทุนในที่ดินโดยตรงไม่ต้องผ่านกองทุนอะไรทั้งสิ้น อาจจะซื้อที่ดินเก็บไว้ สร้างคอมเพล็กซ์ทำธุรกิจแบบเอกชนหรือจะไปลงทุนหุ้น ที่ดินก็ได้ทั่วโลก ซึ่งจะใช้กลไกบริหารแบบเดิมๆ ไม่ได้ต้องตั้ง“องค์กรอิสระ” ยอมจ่ายแพงๆ ดึงมืออาชีพมาบริหาร ทุกวันนี้ ไม่เวิร์กเพราะอยู่ในมือข้าราชการไม่เชี่ยวชาญการลงทุน บริหารแบบเช้าชามเย็นชาม

อย่างไรตาม จะต้องหาทางหนีทีไล่ไว้ให้ดีอย่าให้ถูกปู้ยี่ปู้ยำเหมือนสมัยที่นักการเมืองล้วงเอาไปทำนั่นทำนี่ตลอด เมื่อลงทุนง่ายขึ้นเงินมากขึ้น ต้องมีกลไกตรวจสอบดูแลอย่างรัดกุมขึ้น เงินที่อยู่ในกองทุนเป็นชีวิตและเลือดเนื้อของคนที่เป็นลูกจ้างมาทั้งชีวิต หากเจ๊งหรือล้มละลาย คนนับล้านๆ จะเดือดร้อน

ที่สำคัญอย่าลืมคำเตือน “การลงทุนมีความเสี่ยง”

เหนือสิ่งใด อย่าลืมหันมาดูแลเรื่องการให้บริการ ทุกวันนี้ โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการหลายๆ แห่งต่ำกว่ามาตรฐาน ให้บริการสมาชิกราวกับเป็น “ประชาชนชั้น 2”แพทย์ที่รักษาไม่แก่เกินแกงก็เป็นเด็กจบใหม่ พยาบาลก็น้อยส่วนใหญ่ก็จะเป็นแค่ ผู้ช่วยพยาบาล คุณภาพยาก็เป็นยาในประเทศ

แรกๆ โรงพยาบาลที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลใหม่เพราะมีรายได้ชัวร์ๆ พอตั้งหลักได้ก็จะออก หรือบางแห่งบริหารจัดการไม่ดีไม่มีกำไร ก็เลิก “ลอยแพ” ปล่อยลูกค้าให้เคว้งต้องหาโรงพยาบาลใหม่กันวุ่นวาย

คณะกรรมการที่ดูแลควรจะต้องเข้มงวดให้ได้ตามมาตรฐาน…อย่ามัวแต่รุกหน้าปล่อยหลังรั่ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน