คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

แม้ว่ามูลค่าส่งออกปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัว 0% หรืออาจพลิกกลับมาเป็นบวกเล็กน้อย แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนให้การส่งออกปี 2560 กลับมาขยายตัวได้

อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยปี 2560 สิ่งที่น่ากังวลมีดังนี้

– นโยบายกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยทั้งแง่บวกและแง่ลบ

แง่บวก คือ การยกเลิกข้อตกลง TPP ช่วยปิดจุดอ่อนข้อเสียเปรียบของไทยจากการได้แต้มต่อทางภาษีของหลายประเทศ คู่แข่งสำคัญที่อยู่ใน TPP โดยเฉพาะเวียดนามที่เป็นคู่แข่งของไทยในหลายสินค้า อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า อาหารทะเลกระป๋อง เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ทั้งแง่บวกและลบ คือ การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน จะเป็นโอกาส โดยสินค้าส่งออกของไทยที่เคยเป็นคู่แข่งกับจีนในตลาดสหรัฐ อาจแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดกลับมาได้บางส่วน อาทิ ยางล้อรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ

อย่างไรก็ตาม อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบของไทยไปจีนเพื่อผลิตและส่งออกไปตลาดสหรัฐ อาทิ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สมาร์ตโฟน และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

– Brexit ที่ยังมีความไม่แน่นอนว่ากระบวนดังกล่าวจะเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ ประกอบกับการแยกตัวจะออกมาในรูปแบบใด

– ปัญหาหนี้ภาคเอกชนและภาคการผลิตส่วนเกินในจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหนัก อาทิ เหล็กและถ่านหิน ปัจจัย ดังกล่าวยังฉุดรั้งให้เศรษฐกิจจีนชะลอลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2560 จะขยายตัว 6.2% ชะลอลงจาก 6.6% ในปี 2559 ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนในปี 2560 ยังมีทิศทางไม่แน่นอน

– อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมากขึ้น จากการใช้นโยบายการเงินที่สวนทางกันของประเทศมหาอำนาจ โดยธนาคารกลางสหรัฐ มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น EU และจีนยังใช้นโยบาย ผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ต้องจับตามองกระแส Nationalism ว่าจะส่งผลต่อการเลือกตั้งในเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งจะมีขึ้นในปี 2560 มากเพียงใด ซึ่งหากมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองจะสร้างความผันผวนต่อตลาดเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระยะ ซึ่งผู้ส่งออกไทยจึงควรเตรียมเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงให้พร้อม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน