คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามตลาดคาด เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐมีความพร้อมและตัวเลขการจ้างงาน รวมถึงเงินเฟ้อมีพัฒนาการ ไปในทางที่ดี โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในกรอบ 0.50-0.75%

ในปี 2017 อีไอซีมองว่าดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ จะสามารถขึ้นได้อีก 1-2 ครั้งเป็นอย่างน้อย หากพัฒนาการเศรษฐกิจสหรัฐมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

อีไอซีคาดว่าสำหรับดอกเบี้ยนโยบายไทย จะคงไว้ที่ระดับ 1.50% ต่อไปจนถึงปลายปี 2017 เนื่องจากการไหลออกของเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติมีไม่มากจึงไม่กดดันต่อการอ่อนค่าของเงินบาทมากนัก เพราะไทยมีสถานะการเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดราว 8% ของจีดีพี และมีเงินสำรองสูงถึง 57% ของจีดีพี ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงยังสามารถคงดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศต่อไปได้

ผู้ระดมทุนควรตระหนักถึงต้นทุนการกู้ยืมที่จะสูงขึ้น และอาจพิจารณาวางแผนการระดมเงินทุน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทยซึ่งก็คือต้นทุนการกู้ยืมเงินในไทยมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

หากผู้ระดมทุนมีความประสงค์จะระดมเงินทุนจากตลาดเงินที่มีการกำหนดดอกเบี้ยจ่ายที่อ้างอิง (Benchmark) กับอัตรา ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ควรพิจารณาวางแผนระดม เงินทุนในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก

ผู้ระดมทุนควรระมัดระวังในการก่อหนี้ที่เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ และควรบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อ กลับสู่ภาวะปกติของสหรัฐ จากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้อัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยโดยรวมของสหรัฐปรับขึ้น ส่งผลทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ซึ่งเป็นความเสี่ยงหากบริษัทหรือผู้ระดมทุนพึ่งพาการกู้ยืมเงินดอลลาร์สหรัฐอย่าง ต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ที่มีรายจ่ายในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เช่น ผู้นำเข้า

ทั้งนี้ อีไอซีมองว่าเงินบาทจะสามารถอ่อนค่าไปได้ถึง 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ได้ในช่วงสิ้นปี 2017 หากเฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ตามประมาณการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน