คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ปี 2559 ที่ผ่านพ้นไปด้วยตัวเลขกำไรสุทธิรวมจำนวน 1.97 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% จากปีก่อนนั้น แม้ว่าจะดีขึ้นกว่าปี 2558 ที่หดตัว 7.0% แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการบริหารจัดการต้นทุนในเชิงรุก

สำหรับความท้าทายสำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2560 คงจะมาจากโจทย์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ โจทย์ทางด้านกติกา ทิศทางต้นทุนทางการเงิน และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ภาพในปีนี้แตกต่างไปจากโจทย์ในช่วง 2-3 ปีก่อน ที่ความกังวลหลักจะอยู่ที่ประเด็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

โจทย์แรก รายได้ค่าธรรมเนียมอาจเติบโตชะลอลงในระยะสั้น จากการเปลี่ยนผ่านของกฎเกณฑ์ กติกาการกำกับดูแล และโครงการของรัฐ ที่เริ่มต้นปีด้วยการเดินหน้าโครงการ National e-Payment ในส่วนของโครงการพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่เปิดตัวไปแล้วในส่วนของการโอนเงินระหว่างบุคคล-บุคคล เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา และตามมาด้วยการเตรียมให้บริการพร้อมเพย์นิติบุคคลในช่วงต้นเดือนมี.ค. 2560 โดยคาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ในปี 2560 อาจได้รับผล กระทบราว 3.1-3.6 พันล้านบาทจากโครงการพร้อมเพย์

โจทย์ที่สอง การเปลี่ยนผ่านไปสู่จังหวะการทยอยปรับตัวสูงขึ้นของ “อัตราดอกเบี้ยในตลาด” ที่คงกดดันต้นทุนทางการเงิน และทำให้ยังคงต้องเฝ้าระวังคุณภาพของหนี้อย่างใกล้ชิด

โจทย์ที่สาม การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มแต้มต่อ ท่ามกลางความเข้มข้นของสนามการแข่งขันของบริการด้านการเงิน กระบวนการ Disruptive Innovation ในธุรกิจการเงินไทยในปัจจุบันที่คืบหน้าอย่างรวดเร็ว และยังมีแนวโน้มจะเข้มข้นขึ้นอีก หลัง ธปท.วางแผนจะให้ใบอนุญาตธุรกิจใหม่ๆ และเริ่มทดสอบ Regulatory Sandbox ในปี 2560 คงทำให้สุดท้ายแล้วจะมีผู้เล่นทั้ง FinTech และผู้ประกอบการในธุรกิจอื่น อาทิ e-Commerce โทรคมนาคม และค้าปลีก ก้าวเข้าสู่สนามแข่งขันกับบริการด้านการเงินของธนาคารพาณิชย์มากขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มีโอกาสเติบโตเร่งขึ้นมาที่ 4.0% กรอบคาดการณ์ที่ 3.0-5.0% หรือเพิ่มขึ้นราว 3.4-5.6 แสนล้านบาท (จากที่เติบโตประมาณ 2.5% ในปี 2559) และกำไรสุทธิในปี 2560 เติบโตได้ในกรอบที่ไม่สูงมากนัก หรือราว 3.0-4.0% เทียบกับปี 2559 ที่กำไรสุทธิเติบโต 3.2%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน