เมืองไทย 25 น.

ทวี มีเงิน

ขณะที่ภาครัฐขุดบ่อล่อปลายกระดับโครงการ “อีสเทิร์น ซีบอร์ด” เดิม ขึ้นชั้นระดับ “ซูเปอร์อีสเทิร์นซีบอร์ด” หรือ “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” (อีอีซี) นำร่องจูงใจให้เอกชนหันมาลงทุนเพิ่มขึ้น

ในระเบียงเศรษฐกิจนี้จะลงทุนเพิ่มในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เชื่อมโยงการขนส่งทางรถไฟ พัฒนาอู่ตะเภาเป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3 อย่างเต็มรูปแบบ คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนราวๆ 3 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการพัฒนาและการลงทุนภาคเอกชน

แม้การลงทุนภาคเอกชนอื่นๆ จะยังไม่ขยับ แต่ที่มีแผนลงทุนแน่นอนแล้วน่าจะมี “บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด” (มหาชน) หรือ PTTGC ซึ่งบุกเบิกการลงทุนในอีสเทิร์นซีบอร์ดยุคแรกๆ โดยลงทุนด้านปิโตรเคมี ซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และอื่นๆ สร้างรายได้ให้กับประเทศ ไม่น้อยกว่า 700,000 ล้านบาท จ้างงานอีกเกือบ 5 หมื่นคน และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจคิดเป็น 6% ของจีดีพี

จากแผนกลยุทธ์ของพีทีทีจีซี ซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในด้านต่างๆ โดยมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์ อันดับ 1 ในอาเซียน มีกำลังการผลิตปิโตรเลียมสายโอเลฟินส์ และอะโรเมติกส์ รวมประมาณ 9.26 ล้านตันต่อปี และกำลังการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท 280,000 บาร์เรลต่อวัน

นั่นย่อมแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการเป็นอุตสาหกรรมใหม่ “นิว-เอสเคิร์ฟ” นอกจากนี้ยังมีการลงทุนด้านนวัตกรรม เพื่อพัฒนาการผลิตให้ได้เคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ เป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอีกขั้น พร้อมกับตอบโจทย์ความต้องการตลาดโลก ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์

เตรียมสร้างโรงงานแนฟทาแคร็กเกอร์ เพื่อผลิตเอทิลีน โพรพิลีน รวมถึงบิวทาไดอีน เพื่อเป็นวัตถุดิบต้นน้ำ ในอุตสาหกรรมขั้นกลางและขั้นปลาย นำไปแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ

ต้องยอมรับว่าการลงทุนของพีทีทีจีซีจุดพลุให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเอื้อให้ฐานการผลิตอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ ของไทยเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนำมาซึ่งการหนุนให้เกิดระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก “อีอีซี” เป็นเขตเศรษฐกิจ ชั้นนำของอาเซียน

ที่สำคัญจะเป็นการตอบโจทย์โรดแม็ปรัฐบาลด้วยการก้าวไปสู่ประเทศไทย 4.0 นั่นเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน