‘ส่งออก’ต่อลมหายใจเศรษฐกิจไทย พาณิชย์จับมือเอกชนเดินหน้าสุดตัว : รายงานพิเศษ

‘ส่งออก’ต่อลมหายใจเศรษฐกิจไทย – ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ของทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ รวมทั้งประเทศไทย

แต่หลังจากที่ทั่วโลกเริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชน รวมถึงผ่อนคลายมาตรการ ทำให้กิจกรรมต่างๆ เริ่มกลับมามากขึ้น หลายประเทศแทบจะเป็นปกติ โดยเฉพาะในตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยคือ สหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป

ส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีความหลากหลายมากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร รถยนต์ ชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น

ประเทศไทยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นของเศรษฐกิจในตลาดส่งออกที่สำคัญ จนทำให้กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าการส่งออกในปี 2564 มีแนวโน้มเป็นบวก ตามเป้าหมายที่วางไว้ไม่ต่ำกว่า 4%

เห็นได้จากการส่งออกล่าสุดเดือน เม.ย. 2564 มูลค่า 21,429.27 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.09% ถือเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 3 ปี นับจากเดือนเม.ย. 2561

ขณะที่การส่งออก 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย. 2564) มีมูลค่าถึง 85,577.30 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.78% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 84,879.16 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึง 13.85% ส่งผลให้ดุลการค้า 4 เดือนแรกของไทย เกินดุล 698.14 ล้านเหรียญสหรัฐ

ตัวเลขที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน ผ่านคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง

ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ”การส่งออก” คือพระเอก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ในยุคที่การท่องเที่ยวไม่สามารถทำได้

ดังนั้นภาคการส่งออกจึงถือเป็นเครื่องยนต์เดียวที่เหลืออยู่ ที่มีผลเป็นรูปธรรมที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและจะมีผลในการทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2564 เป็นบวกได้

ย้อนไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดวิสัยทัศน์ ”เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”

ภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต เพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และบรรลุพันธกิจร่วม 4 พันธกิจ ได้แก่

การสร้างและใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน (Single Big Data)

การสร้างแพลตฟอร์มกลาง ”เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”

การสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ

และการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด

โดยมี ”เซลส์แมนประเทศไทย” หรือสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างผู้นำเข้าในประเทศนั้นๆ กับผู้ผลิตสินค้าในประเทศเจรจาแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการร่วมกัน

ขณะเดียวกันให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ปรับแผนงานทั้งหมดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเน้นช่องทางออนไลน์มากขึ้นแทบจะ 100% จากแผนเดิม ซึ่งเป็นแผนต่อเนื่องจากปีก่อน

ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สามารถผลิตนวัตกรรมทางการตลาดรูปแบบใหม่ให้เกิดขึ้นหลายรูปแบบเช่น ไฮบริด ส่งสินค้าจริงไปยังประเทศปลายทางและเจรจาซื้อขายกันด้วยระบบออนไลน์ หรือ Mirror Mirror และรูปแบบจับคู่ธุรกิจออนไลน์ Online Business Matching (OBM)

ส่งผลให้ผู้ส่งออกของไทยสามารถทำยอดขายเฉพาะระบบ OBM ได้ถึง 15,000 ล้านบาท และปี 2564 ตั้งเป้าหมายว่าจะให้ได้ไม่ต่ำกว่า 16,000 ล้านบาท

ทั้งทำการตลาดโดยใช้สื่อออนไลน์ให้มากขึ้น อาทิ การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สำนักข่าวหรือนิตยสารออนไลน์ หรือผ่านกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Influencers) เพื่อสร้างความต้องการในตัวสินค้าหรือบริการของไทยในประเทศนั้นๆ

เพิ่มพันธมิตรแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของต่างประเทศในตลาดต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทาง Cross Border E-commerce เข้าถึง ผู้บริโภคในประเทศต่างๆ ได้โดยตรง

เจาะตลาดเมืองรอง ขยายความร่วมมือทางการค้ากับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน ในระดับรัฐ มณฑล

ส่วนหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) ผลักดันการส่งออกชายแดน ผ่านแดน อย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้ยอดการค้าไตรมาสแรกของปีมีมูลค่า 383,576 ล้านบาท บวกขึ้น 19.31%

รวมทั้งเปิดจุดผ่านแดนเพื่อขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอีก 6 แห่ง หลังจากที่ถูกปิดทำการไปเนื่องจากการระบาดของ โควิด-19 ส่งผลให้มีจุดผ่านแดนเปิดทำการรวม 46 แห่ง

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) ผลักดันให้ ผู้ประกอบการส่งออกภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ที่ไทยมีส่วนในข้อตกลง จนทำให้การส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นบวก

4 เดือนแรกของปีนี้ (เดือน ม.ค.-เม.ย.) ไทยส่งออกไปประเทศที่เป็นคู่เจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) 18 ประเทศ ขยายตัว 6.45% มูลค่า 52,627.81 ล้านเหรียญสหรัฐ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำแพลตฟอร์มสร้างแพลตฟอร์มกลาง ”เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เพื่อช่วยสนับสนุนและเกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ตลอดจนเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย เชื่อมโยงทั้งในประเทศและต่างประเทศ

กรมการค้าภายใน (คน.) เป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรสู่ตลาดโลก มุ่งให้พาณิชย์จังหวัดทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนจังหวัด ร่วมกับเซลส์แมนประเทศในต่างประเทศ เป็นต้น

พาณิชย์ยังแก้ไขปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ด้วยการอนุญาตให้เรือขนาด 400 เมตรนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่ามาเทียบท่าที่แหลมฉบังได้

จากทั้งหมดที่ได้ดำเนินการมา ทำให้รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดของการส่งออกที่ตัวเลขติดลบมาแล้ว เมื่อเดือนมิ.ย. 2563 โดยการส่งออกเริ่มเป็นบวกตั้งแต่เดือนธ.ค.2563 เป็นต้นมา

คาดว่าตัวเลขจะกลับมาเป็นบวกอย่างต่อเนื่องในปี 2564 ซึ่งสะท้อนให้เห็นความร่วมมืออย่างแข็งขันระหว่างกระทรวงพาณิชย์และเอกชน ที่ทำให้การส่งออกยังเป็นพระเอกดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศให้เป็นบวกในปี 2564 นี้ต่อไป

ภาคเอกชน โดย นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า แม้ว่าทั่วโลกจะมีเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว แต่การระบาดของโควิดก็ยังรุนแรงในไทยและอาเซียน อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวและการดำเนินเศรษฐกิจที่ล่าช้าของไทย

'ส่งออก'ต่อลมหายใจเศรษฐกิจไทย

ยังมีปัญหาความผันผวนของราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะชิปส่งผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ที่ต้องชะลอการผลิตที่อาจกระทบการส่งออกไปถึงปลายปี ราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

ขณะเดียวกันภาคเอกชนประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน 2-3 แสนคน อาจทำให้ต้องชะลอคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งภาครัฐต้องเร่งแก้ไขปัญหาทั้งหมดนี้ให้ได้ และหากทำได้ก็เป็นไปได้ว่าการส่งออกของไทยอาจทำได้ถึง 10%

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้ามีเป้าหมายในการฟื้นฟูประเทศใน 99 วัน ซึ่งหนึ่งมาตรการที่ต้องดำเนินการคือการผลักดันให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง

'ส่งออก'ต่อลมหายใจเศรษฐกิจไทย

ทั้งต้องการให้ภาครัฐเร่งการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มสถานประกอบการโรงงาน เพื่อป้องกันการระบาดในโรงงาน ซึ่งจะส่งผลต่อการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกในอนาคตได้

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้องการให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ ราคาเหล็ก ราคาค่าขนส่ง ค่าระวางเรือเพราะหากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้ความสามารถด้านการแข่งขันของไทยถดถอยลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปของไทยที่นำรายได้เข้าประเทศกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท

'ส่งออก'ต่อลมหายใจเศรษฐกิจไทย

อีกทั้งจะมีผลกระทบกับผู้คนในระบบไม่เพียงแต่ผู้ส่งออก ผู้ผลิต แต่จะรวมถึงผู้บริโภค ชาวประมง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในห่วงโซ่การผลิตด้วย

ทั้งหมดนี้คงเป็นการวัดความแข็งแกร่งของภาคการส่งออกของไทย และวิสัยทัศน์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะเดินหน้ากู้เศรษฐกิจไทย ให้ฟื้นชีพด้วยการส่งออกได้ตามเป้าหมายหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน