ภาคอสังหาริมทรัพย์โดยรวมตกอยู่ในภาวะขาลงจากพิษ โควิด-19 มากว่าสองปี สะท้อนจากรายได้กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หดตัวถึง 11% ในปี 2563

แต่จากการที่เศรษฐกิจเริ่มปรับดีขึ้นในไตรมาสสุดท้าย ปี 2564 กอปรกับมีมาตรการ LTV สนับสนุนจากธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ในปีนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาด สาเหตุเนื่องจากกำลังซื้อในประเทศที่ฟื้นตัวช้า และต้นทุนการก่อสร้างที่ขยับขึ้นเร็ว

โดยปัจจัยบวกกระตุ้นดีมานด์ระยะสั้นของธุรกิจอสังหา ริมทรัพย์ในปีนี้ ประกอบด้วยมาตรการภาครัฐ ทั้งการขยายเวลาลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ราคา ไม่เกิน 3 ล้านบาท เหลือ 0.01% ถึงสิ้นปี 2565

และ ธปท.ผ่อนคลายมาตรการ LTV จาก 90% เป็น 100% สำหรับที่อยู่อาศัยหลังที่ 1 ที่มีราคามากกว่า 10 ล้านบาท และราคา ต่ำกว่า 10 ล้านบาทสำหรับที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ คาดว่าการฟื้นตัวของกำลังซื้อเป็นไปอย่างช้าๆ จากการเผชิญกับแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อ ที่สูงขึ้นและความกังวลในสถานการณ์โควิด-19 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงสูง

ขณะที่ด้านซัพพลาย ผู้ประกอบการอสังหาฯ เผชิญกับต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ต้นทุนพลังงาน ค่าแรงที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ภาพรวมทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565 เริ่มฟื้นตัวได้แต่ยังไม่กลับสู่ระดับปกติ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกของมาตรการภาครัฐและมาตรการสินเชื่อ LTV ของ ธปท. ที่กระตุ้นดีมานด์ ตลอดจนแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น จะเป็นแรงเสริมให้ตัดสินใจซื้ออสังหาฯ ซึ่งเป็นผลบวกต่อผู้ประกอบการสามารถระบายสต๊อกที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ออกไป

โดยคาดรายได้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวโน้มพลิกขยายตัว 5% จากที่หดตัว 3.3% ในปี 2564

ในระยะต่อไป ภาคธุรกิจอสังหาฯ ต้องเตรียมความพร้อมรองรับหลากหลายปัจจัยเศรษฐกิจและปัจจัยเชิงโครงสร้าง ที่เปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่ในเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง พฤติกรรมผู้บริโภคและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19 ในขณะที่จำนวนประชากรในอีก 10 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มอยู่ในระดับทรงตัวแต่พบว่าประชากรที่เป็นวัยทำงานมีแนวโน้มลดลง

จากปัจจัยเหล่านี้เร่งให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมหากลยุทธ์เพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคต

ttb analytics ทีเอ็มบีธนชาต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน