ปุ๋ยเคมี นับเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของการปลูกพืชเกษตรไทย ซึ่งมีความต้องการใช้ปุ๋ยตามปริมาณการเพาะปลูกพืชเป็นหลัก โดยไทยมีสถานะเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีเกือบทั้งหมดและยังเป็นทิศทางการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งราว 2 ใน 3 เป็นการนำเข้าแม่ปุ๋ย และอีก 1 ใน 3 เป็นการนำเข้าปุ๋ยเคมีที่ผสมแล้ว

รวมแล้วไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีเฉลี่ยปีละกว่า 5 ล้านตัน มูลค่ามากกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จะเห็นว่าไทยมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีในปริมาณที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ เพื่อนำมาใช้เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ขณะที่พื้นที่ทางการเกษตรมีจำกัด ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของดินให้เสื่อมลง จึงมีการใช้ปุ๋ยในปริมาณต่อไร่ที่เพิ่มขึ้นด้วย สะท้อนจากในปี 2563 อัตราการใช้ปุ๋ยเคมีในพืชเศรษฐกิจหลักรวมเพิ่มขึ้นเป็นราว 380 กิโลกรัมต่อไร่ จากในปี 2561 ที่ราว 348 กิโลกรัมต่อไร่

ทั้งนี้ ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีที่มีแร่ธาตุไนโตรเจนมากที่สุดในสัดส่วน 48.6% ของปริมาณการนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งหมดของไทย มาจากซาอุดีอาระเบียเป็นหลัก และไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีผสม ในสัดส่วนรองลงมาที่ 34.0% มาจากจีนและรัสเซียเป็นหลัก ตามมาด้วยการนำเข้าปุ๋ยที่มีแร่ธาตุโพแทสเซียมที่ 17.3% มาจาก แคนาดาและเบลารุส

ราคาปุ๋ยเคมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2565 จากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีทีท่ายืดเยื้อ ดันราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้อยู่ในระดับสูง รวมถึงอุปทานในตลาดโลกตึงตัว ส่งผลให้ไทยซึ่งเป็นผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีเกือบทั้งหมด ได้รับผล กระทบจากราคาที่ปรับสูงขึ้นตามตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยเคมีอย่างน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ดันให้ราคาปุ๋ยเคมีพุ่งตาม อีกทั้งรัสเซียเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีธาตุหลักรายใหญ่ของโลกได้มีการจำกัดการส่งออก รวมถึงผู้นำเข้ากังวลต่อปัญหา Supply Disruption จึงเร่งนำเข้า ทำให้อุปทานปุ๋ยในตลาดโลกตึงตัว ยิ่งดันราคาปุ๋ยให้สูงขึ้นจนเป็นประวัติการณ์

คาดว่าราคาปุ๋ยยูเรียนำเข้าของไทยน่าจะยังมีแนวโน้มยืนระดับสูงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2565 หลังจากที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ราว 798 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน โดยทั้งปี 2565 ราคาปุ๋ย ยูเรียนำเข้าคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 950-1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับในปี 2564

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน