บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนล่าสุดของไทยในไตรมาส 3/2560 ชะลอลง มาอยู่ที่ 78.3% ต่อจีดีพี จากระดับ 78.4% ต่อจีดีพี ในไตรมาส 2/2560 โดยอาจกล่าวได้ว่า การลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนดังกล่าว ยังคงเป็นผลมาจากการที่ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน เพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าการเติบโตของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Nominal GDP) อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แม้ว่ายอดเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนของสถาบันรับฝากเงินและสถาบันการเงินอื่นๆ จะขยับขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ในไตรมาส 3/2560 มาที่ 11.76 ล้านล้านบาท (จากที่ขยายตัวเพียง 3.1% ในไตรมาสที่ 2/2560) ตามการขยายตัวเพิ่มขึ้นของสินเชื่อรายย่อยหลายประเภท อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต ตลอดจนสินเชื่อเพื่อการซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์

แต่มูลค่าจีดีพี ณ ราคาประจำปี ที่เติบโตเร่งขึ้นถึง 6.0% YoY (เป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 4 ปี) มาอยู่ที่ประมาณ 15.02 ล้านล้านบาท ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ?มาตรวัดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทย? ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 7 ไตรมาสที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สินเชื่อรายย่อยหลายประเภท ที่มีสัญญาณขยายตัวได้ดีในช่วงไตรมาส 4/2560 อาจช่วยหนุนให้ยอดคงค้างของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้ครัวเรือน) ในไตรมาส 4/2560 ขยายตัวได้ประมาณ 4.0% YoY ขยับสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ไตรมาส ทำให้ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2560 มีโอกาสทรงตัว หรือขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่กรอบประมาณ 78.3-78.5%

สำหรับปี 2561 นั้น คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีมีโอกาสขยับลงมาอยู่ที่กรอบประมาณ 77-78% ภายใต้สมมติฐานที่เศรษฐกิจไทยปี 2561 ขยายตัวในกรอบ 3.5-4.5% โดยแม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเมื่อเทียบกับจีดีพีในปี 2561 ยังมีโอกาสลดต่ำลงต่อเนื่องเป็นปีที่สาม เนื่องจากอัตราการขยายตัวของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจประจำปี (Nominal GDP ซึ่งมีผลของราคาสินค้าที่มีทิศทางขยับขึ้น) อาจยังคงอยู่สูงกว่าการขยายตัวของหนี้ครัวเรือน

อย่างไรก็ดี ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่ยังคงขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง ตามแนวโน้มสินเชื่อและทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวม ยังคงเป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า ภาระหนี้สินยังเป็นประเด็นที่เปราะบางของครัวเรือนบางกลุ่ม โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีภาระผูกพันกับหนี้หลายก้อน รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่มีการก่อหนี้เร็วขึ้น ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในบริบทนี้ ต้องพึ่งพาความร่วมมือจากหลายฝ่ายเข้าด้วยกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน