ช่วงที่ผ่านมา มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องของ “ค่าไฟแพง” มากพอสมควรเลยครับ และบางส่วนก็ถึงกับ “ฟันธง” ว่า “ต้นเหตุ” ที่ “ค่าไฟแพง” มาจากเรื่องของ “การสำรองไฟฟ้า” มีการอ้างถึง “ข้อมูล” ระบุว่า การ “ผลิตไฟฟ้า” ของเรา มี “พลังงานสำรอง” สูงถึงร้อยละ 40 – 60 ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าจริงต่ำกว่ามาก ซึ่งเท่ากับว่า มีปริมาณ “ไฟฟ้าสำรอง” ล้นในระบบ

ดังนั้น จึงมีการ “ฟันธง” โดยไม่ลังเลเลยว่า นี่จึงเป็น “ต้นเหตุ” ของ “ค่าไฟแพง” ถูกครับ แต่… ไม่ถูกทั้งหมด และไม่ถูกต้องโดยครบถ้วนทั้งกระบวนความครับ ! ถูกครับ ที่ปริมาณ “ไฟฟ้าสำรอง” ล้นในระบบ ส่งผลต่อ “ค่าไฟแพง” แต่ไม่ถูกครับ ที่อ้างว่า เรามี “ไฟฟ้าสำรอง” สูงถึงร้อยละ 40 – 60 และไม่ถูกครับ สำหรับ “สูตร” ที่นำมาใช้คำนวณ “อัตราการสำรองไฟฟ้า” การมีกำลังการผลิต “ไฟฟ้าสำรอง” มากเกินไป บ่งบอกว่า อาจมีโรงไฟฟ้ามากเกินกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ “อัตราค่าไฟ” สูงขึ้นจริง เนื่องจากต้องคิดรวมต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า

ทว่า ! หากมีกำลังการผลิต “ไฟฟ้าสำรอง” น้อยเกินไป ก็จะส่งผลให้มี “ความเสี่ยง” ต่อการ “ขาดแคลนไฟฟ้า” ใน “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ต่าง ๆ

ความจริงก็คือ การประเมินกำลังการผลิต “ไฟฟ้าสำรอง” ที่เหมาะสม ต้องพิจารณาจาก “กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ได้จริง” และ “ความต้องการใช้ไฟฟ้า” ซึ่งในการประเมินจะใช้ปริมาณ “ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด” นี่ทำให้เราต้องมี “สูตร” ในการ “คำนวณ” สำหรับ “อัตราการสำรองไฟ” ที่ถูกต้อง “สูตร” ที่ว่านี้ก็คือ “กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ได้จริง” ลบด้วย “ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด” หารด้วย “ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด” และคูณด้วย “100” ชัดเจนว่า ต้องเป็น “กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ได้จริง” ไม่ใช่ “กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา”

ตัวอย่างเช่น ในปี 2565 เรามี “กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา” อยู่ที่ 52,556 เมกะวัตต์ คิดเป็น “กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ได้จริง” 45,255 เมกะวัตต์ และมี “ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด” ที่ 33,177 เมกะวัตต์ สูตรในการคำนวณก็คือ 45,255 ลบด้วย 33,177 หารด้วย 33,177 และคูณด้วย 100 คิดเป็น “อัตราการสำรองไฟ” อยู่ที่ร้อยละ 36

ขณะที่ถ้าใช้ “กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา” แทนที่ “กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ได้จริง” อย่างที่มีการใช้อย่างไม่ถูกต้อง ก็จะเป็น 52,556 ลบด้วย 33,177 หารด้วย 33,177 และคูณด้วย 100 “อัตราการสำรองไฟ” ที่ถูกคำนวณอย่างไม่ถูกต้อง ก็จะพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ ร้อยละ 58 ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง ชัดเจนครับว่า มากไปก็ไม่ดี และน้อยไปก็ไม่ดี

ชัดเจนครับว่า ทั้งหลายทั้งปวงต้องพอดี ๆ ภายใต้ “สูตรคำนวณ” ที่ถูกต้อง และก็ชัดเจนครับว่า ปริมาณ “ไฟฟ้าสำรอง” ของเรา อยู่ที่ร้อยละ 36 ไม่ได้สูงถึงร้อยละ 40 – 60 ซึ่งไม่ได้ล้นในระบบ และไม่ได้ส่งผลต่อ “ค่าไฟแพง”ความจริงก็คือ “ค่าไฟแพง” มาจากหลายปัจจัย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายบริหาร และภาครัฐ ต่างก็เร่งแก้ไขและเยียวยาอย่างเต็มกำลัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และลดผลกระทบต่าง ๆ

แต่ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่านี้ ไม่ได้เกี่ยวกับการ “สำรองไฟฟ้า” มากเกินไปแน่ ๆ ครับ !!

คอลัมน์ : หลากมิติพลังงาน ผู้เขียน : เอก รอบทิศ

หัวเรื่อง : ไม่มากไป – ไม่น้อยไป

เผยแพร่ : ศุกร์ 24 มีนาคม 2566

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน