ทุกกวันนี้ มี “ข้อมูล” เต็มไปหมด และ “ข้อมูล” ทั้งหลายที่ว่านี้ ก็มักถูกทำให้เข้าใจว่าเป็น “ข้อเท็จจริง” ครับ

ว่าไปแล้ว ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรหรอกครับ ถ้า “ข้อมูล” ที่ว่านั้น เป็น “ข้อเท็จจริง” ที่ “ครบถ้วน” แต่ถ้า “ไม่จริง” หรือ “ไม่หมด” หรือพูด “ความจริง” แบบ “ไม่ครบถ้วน” อย่างนี้ เป็นการสร้างปัญหาและสร้างความสับสนอย่างยิ่ง

เรื่องของ “ค่าไฟแพง” เป็น “รูปธรรม” หนึ่งครับ

วันนี้ เรารับรู้โดยทั่วกันว่า “ค่าไฟ” มีการปรับตัวสูงขึ้นจริง แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า เหตุที่แท้จริงมาจากอะไร

เรารู้แต่ว่า วันนี้ “ค่าไฟแพง” ผ่านการ “ขยายผล” และ “หวังผล” จาก “ข้อเท็จจริง” ที่ไม่ครบถ้วน ทั้งที่ความจริงแล้ว ทั้งภาครัฐอย่างกระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน พยายามทำทุกวิถีทาง และบูรณาการร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาด้านพลังงานมาโดยตลอด

อย่างที่ทราบกันว่า วิกฤติ “รัสเซีย-ยูเครน” ส่งผลให้ “ราคาพลังงาน” ผันผวนรุนแรง “คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน” (กบง.) จึงได้แต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน” ขึ้น

มีหน้าที่เสนอแนะแนวทาง มาตรการ เพื่อบริหารจัดการ “สภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน” เพื่อให้มีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับใช้ในประเทศ และกระทบภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนให้น้อยที่สุด เพื่อบรรเทาสถานการณ์ด้านพลังงาน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากวิกฤติ “รัสเซีย-ยูเครน” ในปีที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ได้ประชุมกันถี่ยิบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ความจริงก็คือ วิกฤติ “รัสเซีย-ยูเครน” ส่งผลให้ราคา “ก๊าซธรรมชาติ” พุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ “การผลิตไฟฟ้า” ในบ้านเรา ต้องใช้ “ก๊าซธรรมชาติ” เป็นหลัก ซึ่งเมื่อการผลิตของเราไม่เพียงพอ ก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งในภาวะวิกฤติพลังงานที่ราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งสูง จึงส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นด้วย จึงนำมาสู่การออก “มาตรการ” และแผนงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การจัดหาก๊าซในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านให้ได้มากที่สุด ไปจนถึงการใช้เชื้อเพลิงอื่นที่ต้นทุนถูกกว่า อย่างน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา

และนำ “โรงไฟฟ้าแม่เมาะ” ที่จะปลดมาใช้ต่อ ตลอดจนรับซื้อพลังงานทดแทน และการประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อบริหารจัดการลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคอื่น ๆ เพื่อใช้ในภาคไฟฟ้า

นี่ยังไม่รวมถึงการส่งเสริมเพื่อลดการใช้พลังงาน และความพยายาม “ปลดล็อก” เรื่องของ “โซลาร์เซลล์”นี่เป็นเพียงบางส่วนที่คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ได้ดำเนินการ โดยสรุปแล้วจะแบ่งได้เป็น3 กลุ่ม” ครับ

กลุ่มแรก คือ “ปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิง” กลุ่มที่สอง คือ “บริหาร Supply ก๊าซในประเทศ” และกลุ่มที่สาม คือ “ลด Demand การใช้ก๊าซในโรงไฟฟ้า” และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม

มาตรการที่ว่านี้ ได้ถูกเสนอต่อ “กบง.” เมื่อผ่านความเห็นชอบ หน่วยงานต่าง ๆ ก็ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

ครับ วันนี้ “ค่าไฟแพง” จริงครับ เพราะมี “เหตุ” อย่างที่ว่า แต่ไม่ใช่อย่างที่อ้างกันส่ง ๆ โดยไม่ครบถ้วน

และที่มากกว่านั้นก็คือ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ทุ่มสรรพกำลัง เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มีน้อยที่สุด

เรื่องอย่างนี้เป็น “วาระแห่งชาติ” ไม่มีใครนิ่งนอนใจ แต่ก็ต้องใช้เวลาในการดำเนินการด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญต้องช่วยกันให้ “ข้อเท็จจริง” ที่ “ครบถ้วน” ช่วยกันคนละไม้คนละมือดีกว่าครับ อย่าเอาแต่ “มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” เลยนะครับ !!

คอลัมน์ : หลากมิติพลังงาน ผู้เขียน : เอก รอบทิศ
หัวเรื่อง : สภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน
เผยแพร่ : ศุกร์ 5 พฤษภาคม 2566

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน