ถึงตอนนี้ “ผลการเลือกตั้ง 2566” ค่อนข้างชัดเจนแล้ว จะเหลือก็แต่เพียง “จัดตั้งรัฐบาล” ที่ประชาชนยังรอลุ้นกันอย่างใจจดจ่อ

อุณหภูมิของสถานการณ์บ้านเมืองช่วง “ฤดูเลือกตั้ง” พอกันกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นของ “ฤดูร้อน” เลยทีเดียว

ข้อมูลของ “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)” ระบุว่า “การใช้ไฟฟ้าสูงสุด” หรือ “พีคไฟฟ้า” ในรอบปี 2566 สูงถึง 34,826.5 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในประวัติศาสตร์ไทย

สาเหตุจากสภาพอากาศร้อนจัด และเป็นช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่อง

“ค่าไฟฟ้า” ที่พุ่งทะยานสูงขึ้น ทำให้ประชาชนจำนวนมากมองหาทางเลือกที่จะ “ลดค่าใช้จ่าย”

“พลังงานหมุนเวียน” และ “หลังคาโซลาร์เซลล์” จึงกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นเพื่อ “ลดค่าไฟฟ้า” และยังเป็นนโยบายการหาเสียงของ “พรรคการเมือง” ในการเลือกตั้ง 2566 ด้วย

อีกทั้งการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ให้มี “พลังงานหมุนเวียน” ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ก็ยังอยู่ใน “กรอบแผนพลังงานชาติ” โดย “คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)”

เพื่อให้ประเทศไทยสามารถใช้ “พลังงานสะอาด” ในการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนบรรลุเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050

รวมทั้งบรรลุเป้าหมาย “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” (Net Zero) ได้ภายในปี ค.ศ. 2065

แต่ทุกอย่างย่อมมีทั้ง “ข้อดี” และ “ข้อเสีย” รวมไปถึง “เงื่อนไข” และ “ข้อจำกัด”

เช่นว่าไฟฟ้าจาก “โซลาร์เซลล์” เป็น “พลังงานสะอาด” ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน และมีแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติ

แต่ขณะเดียวกันก็มี “ต้นทุนสูง” กว่าการผลิตจาก “ฟอสซิล” จึงทำให้ “ค่าไฟฟ้า” สูงขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ “เสถียรภาพในการใช้งาน”

นอกจากนี้ หากมีการส่งเสริมการติดตั้ง “โซลาร์ภาคประชาชน” ด้วยการแจกหรือติดตั้งโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

“ภาครัฐ” ก็ต้องจัดหา “เงินงบประมาณ” จำนวนมหาศาล เพื่อสนับสนุนให้ “แจก-ติดตั้งฟรี”

ผลพวงที่ตามมาอีกก็คือ “ผู้ใช้ไฟฟ้า” ก็จะซื้อไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าลดลง ส่งผลให้ “ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระบบ” ต้องแบกรับ “ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง” มากขึ้น ทำให้ “ค่าไฟฟ้าส่วนกลาง” แพงมากขึ้น

ยังไม่รวมที่ว่าหาก “แจก-ติดตั้งฟรี” ถ้าดำเนินการไม่ทั่วถึง ก็จะมีประเด็นในด้าน “ความเป็นธรรม” และ “ความเท่าเทียม” ของ “ภาครัฐ” ตามมาด้วย

ทุกวันนี้ “ภาครัฐ” มีแนวทางส่งเสริม “โซลาร์ภาคประชาชน” แบบค่อยเป็นค่อยไป

หลักการคือส่งเสริมให้ประชาชน “ผลิตไฟฟ้าใช้เอง” เป็นหลัก และ “ขายไฟฟ้า” ส่วนที่เหลือให้การไฟฟ้าฯ ในราคา 2.20 บาท/หน่วย

มีการ “กำหนดโควต้า” ในการรับซื้อ โดย “แผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด” มีเป้าหมายการรับซื้อระหว่างปี 2565 2573 รวม 90 เมกะวัตต์

เหตุที่ต้อง “กำหนด” แบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” ก็เพื่อให้ประเทศไทยมีรากฐานที่แข็งแรง ในการใช้ “พลังงานหมุนเวียน” ซึ่งเป็น “พลังงานเพื่ออนาคต”

ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึง “เสถียรภาพในการใช้งาน” และ “ความมั่นคงทางพลังงาน” ของประเทศควบคู่กันไปด้วย

คอลัมน์ : หลากมิติพลังงาน ผู้เขียน : เอก รอบทิศ
หัวเรื่อง : พลังงานเพื่ออนาคต
เผยแพร่ : ศุกร์ 19 พฤษภาคม 2566

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน