เมื่อหลายวันก่อน มีประเด็นน่าสนใจในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่าง “เวียดนาม” เกิดขึ้น นั่นก็คือ “ไฟฟ้าดับ”

แหล่งข่าวระบุว่าพื้นที่เศรษฐกิจอย่าง “ฮานอย” และ “โฮจิมินห์” ต่างก็ได้รับผลกระทบ บางพื้นที่ต้องดับไฟนานถึง 7 ชั่วโมง

สาเหตุมาจาก “ความต้องการใช้ไฟฟ้า” ที่เพิ่มสูงขึ้นจากสภาพอากาศร้อนจัด รวมถึง “กำลังผลิตสำรองไม่เพียงพอ” นำไปสู่การเวียน “ดับไฟฟ้าทั่วประเทศ”

หลายคนอาจจะลองนึกภาพตามถึงผลกระทบในบ้านเรา หากเกิด “ไฟฟ้าดับ” ในช่วงฤดูร้อน แค่เฉพาะใน “ครัวเรือน” ยังไม่รวมถึง “สถานที่สำคัญ” ต่างๆ

หรือหากกระทบต่อ “พื้นที่ทางเศรษฐกิจ” ก็จะส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเชื่อมั่นต่อการจัดการด้านพลังงานของประเทศ

แน่นอนว่าทุกที่ทุกแห่ง จำเป็นต้องคำนึงถึง “การวางแผนและจัดการพลังงานไฟฟ้า” ที่จะต้องเตรียมรับมือ หากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง หรือมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น

ในประเทศไทย ข้อมูลจาก “สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)” ระบุว่า ปี 2566 นี้ ได้เกิดสถิติ “ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด” ของระบบไฟฟ้า หรือ ค่าพีค (Peak) ใหม่ เมื่อ 6 พ.ค. 66 อยู่ที่ 34,826.50 เมกะวัตต์ สูงกว่าค่าพีคเดิม เมื่อ 28 เม.ย. 65 ที่ 33,177.30 เมกะวัตต์

ต้องนับว่าประเทศไทยของเรามี “การวางแผนและจัดการพลังงานไฟฟ้า” ได้อย่างมีเสถียรภาพ สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ทั่วประเทศ จึงไม่เกิดกรณีที่เวียดนามกำลังเผชิญอยู่

การมี “โรงไฟฟ้า” และ “ไฟฟ้าสำรอง” ที่เพียงพอ พร้อมรับต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า และการเติบโตทางเศรษฐกิจ มี “ระบบสายส่งไฟฟ้า” ที่มีประสิทธิภาพ ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อ “ความเชื่อมั่น”

บางประเทศมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูง แต่ขาดระบบสายส่งไฟฟ้าที่ดี ก็ไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุม ขณะที่บางประเทศต้องเวียนดับไฟฟ้า เพราะมีกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของคนในประเทศ

สิ่งเหล่านี้อยู่ที่ “การวางแผนและจัดการพลังงานไฟฟ้า” ซึ่งมีองค์ประกอบหลายมิติ อาจนำไปสู่ “ต้นทุน” ที่สูงขึ้น แต่มีความจำเป็นเพราะก่อให้เกิด “เสถียรภาพด้านไฟฟ้า” ที่มากขึ้นเช่นกัน

เมื่อเทียบ “ค่าไฟฟ้า” ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน อัตราค่าไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 4.70 บาท/หน่วย เป็นอันดับ 4 ในอาเซียน รองจาก “สิงคโปร์” ซึ่งอยู่ที่ 6.22 บาท/หน่วย “ฟิลิปปินส์” 6.04 บาท/หน่วย และ “กัมพูชา” 5.12 บาท/หน่วย

แต่ “ดัชนีคุณภาพการบริการไฟฟ้า” ของประเทศไทย ดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนหลายเท่าตัว สะท้อนให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพและ “คุณภาพของระบบไฟฟ้า” ที่เรามี

ถึงแม้ตัวชี้วัดต่าง ๆ จะเป็นไปในทิศทางว่า ประเทศไทยมี “เสถียรภาพด้านไฟฟ้า” แต่สิ่งสำคัญที่เราทุกคนสามารถช่วยทำควบคู่กันไปได้ คือการช่วยกัน “ประหยัดไฟฟ้า” ใช้ไฟฟ้าตามความจำเป็น อย่างรู้คุณค่า

เพราะนอกจากจะทำให้เราใช้ไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยประหยัด “ค่าไฟฟ้า” ได้อีกด้วย

“การวางแผนและจัดการพลังงานไฟฟ้า” จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะไม่เพียงแต่สร้างความเชื่อมั่นแก่ “นักลงทุน” และโอกาสทางการแข่งขันของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อน “เศรษฐกิจ” ให้เติบโต

หากแต่คือ “คุณภาพชีวิต” ของ “คนไทย” ที่จะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ และมีประสิทธิภาพในทุกสถานการณ์

คอลัมน์ : หลากมิติพลังงาน ผู้เขียน : เอก รอบทิศ
หัวเรื่อง : ไฟฟ้าดับ
เผยแพร่ : ศุกร์ 2 มิถุนายน 2566

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน