“ค่าไฟฟ้า” เป็นหนึ่งในปัจจัยของ “ต้นทุน” ที่มีผลต่อการตัดสินใจของ “นักลงทุน”

เมื่อเร็ว ๆ นี้ จึงมีความวิตกกังวลเกิดขึ้นว่า “อัตราค่าไฟฟ้า” ที่สูงขึ้นของ “ประเทศไทย” จะส่งผลต่อการลงทุน

บ้างก็ว่าเหล่านักลงทุนทั้งหลายจะย้าย “ฐานการผลิต” จากประเทศไทย ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่นในแถบอาเซียน ด้วยเหตุผลของ “อัตราค่าไฟฟ้า”

ข้อเท็จจริงคือ “อัตราค่าไฟฟ้า” ของไทยในปัจจุบัน อยู่ที่ 4.70 บาท/หน่วย

เมื่อเทียบใน “กลุ่มประเทศอาเซียน” ด้วยกันอัตราค่าไฟฟ้าของไทยเป็นอันดับ 4 ในอาเซียน รองจาก “สิงคโปร์” ซึ่งอยู่ที่ 6.22 บาท/หน่วย “ฟิลิปปินส์” 6.04 บาท/หน่วย และ “กัมพูชา” 5.12 บาท/หน่วย

ขณะที่ “เวียดนาม” หนึ่งในประเทศเป้าหมายที่คาดว่าจะมีการย้ายฐานการลงทุนไปจากประเทศไทยอัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.75 บาท/หน่วย และเพิ่งปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเพิ่มอีก 3% ไปอยู่ที่ประมาณ 2.85 บาท/หน่วย

สาเหตุของ “การปรับขึ้นค่าไฟฟ้า” ของ “เวียดนาม” ก็เพื่อจูงใจผู้ผลิตไฟฟ้าให้เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้ามากขึ้นได้

แต่เดี๋ยวก่อน ขณะนี้มีข่าวที่สะเทือนการลงทุนกิจการที่ “เวียดนาม” เพราะมีการประกาศ “เวียนดับไฟ” ทั่วประเทศ

สาเหตุมาจาก “ความต้องการใช้ไฟฟ้า” ที่เพิ่มสูงขึ้นจากสภาพอากาศร้อนจัด รวมถึง “กำลังผลิตสำรองไม่เพียงพอ”

พื้นที่เศรษฐกิจอย่าง “ฮานอย” และ “โฮจิมินห์” ต่างก็ได้รับผลกระทบ บางพื้นที่ต้องดับไฟนานถึง 7 ชั่วโมง

ข้อเท็จจริงคือ “เวียดนาม” มีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งในระบบมากเกือบสองเท่าของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด

แต่การตรึงค่าไฟฟ้าที่ไม่สะท้อน “ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงถ่านหิน” ที่เกิดขึ้นจริง จากราคา 60 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 231 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566

ส่งผลให้ “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” บางแห่งไม่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าส่วนหนึ่งหายไปจากระบบ

นำไปสู่ปัญหา “ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า” และ “คุณภาพไฟฟ้า” เกิดการเวียน “ดับไฟฟ้าทั่วประเทศ” จนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่งผลกระทบต่อ “ภาคการผลิต” ความเชื่อมั่นของ “นักลงทุน” และความเสียหายทาง“เศรษฐกิจ”

ขณะที่ประเทศไทย นับว่าโชคดีที่มี “การวางแผนและจัดการพลังงานไฟฟ้า” เพื่อสร้าง “สมดุล” ทั้งในแง่ “ปริมาณ” และ “คุณภาพ”

องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องหลายมิติ อาจนำไปสู่ “ต้นทุน” ที่สูงขึ้น แต่เป็นความจำเป็นที่ไม่อาจละเลยเพราะก่อให้เกิด “ความมั่นคง” ของ “ระบบไฟฟ้า” ที่มีตัวอย่างให้เห็น

นำไปสู่ “ดัชนีคุณภาพการบริการไฟฟ้า” ของประเทศไทย ที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนหลายเท่าตัว

เรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริง ที่ยังคงสร้างความเชื่อมั่นแก่ “นักลงทุน” และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจ” ของไทยให้เติบโต

คอลัมน์ : หลากมิติพลังงาน ผู้เขียน : เอก รอบทิศ
หัวเรื่อง : ความมั่นคง “ระบบไฟฟ้า”
เผยแพร่ : ศุกร์ 16 มิถุนายน 2566

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน