ทุกวันนี้คนไทยคุ้นเคยกับ “ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า” หรือ “Electric Vehicle” ที่เรียกกันทั่วไปว่า “อีวี” (EV) มากขึ้น

จากรถยนต์ที่เคยใช้ “น้ำมัน” ปรับมาเป็น “น้ำมัน+ไฟฟ้า” คือ “ไฮบริด” จนมาถึง “EV” ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว

“จุดชาร์จไฟฟ้า” ก็มีให้เห็นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตามอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ไปจนถึงตามถนนสายหลักต่าง ๆ

กระแส “EV Boom” ชัดเจนขึ้นมาตั้งแต่ ปี 2565 เมื่อยักษ์ใหญ่ด้านรถยนต์ไฟฟ้าของ “จีน” ไต่อันดับขึ้นเป็น “ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า” รายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก

ในเมืองไทยความสนใจต่อ “EV” ก็เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะเมื่อต้นปี 2566 มี “EV” ที่พร้อมขายให้ขับกันเกือบ 30 รุ่น หลายยี่ห้อ หลายราคาที่พอให้จับต้องได้

ส่งผลให้ยอดจองจากงาน “มอเตอร์โชว์” ปลายปี 2565 ที่ผ่านมา พุ่งขึ้นจนกลายเป็นสถิติเกือบ 6 พันคัน

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากคนจะหันมานิยม “EV” เพราะ “น้ำมัน” ก็ราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง

แถม “EV” ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นรถยนต์ “พลังงานสะอาด” ลดการปล่อยมลพิษ ลด PM2.5 เรียกว่าเป็นขวัญใจสาย “รักษ์สิ่งแวดล้อม” กันเลย

ขณะเดียวกัน “นโยบายภาครัฐ” ก็ออกมาสนับสนุนทั้ง “เงินอุดหนุน” รถยนต์ รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งการ “ลดภาษีสรรพสามิต” ในทุกประเภทรถ

ยังไม่รวมถึง “ข้อดี” ด้านการบำรุงรักษา ที่ในวงการว่ากันว่า “EV” จุกจิกน้อยกว่า “รถใช้น้ำมัน”

ขณะที่ “ค่าเชื้อเพลิง” หรือ “พลังงาน” ของ “EV” ก็น้อยกว่าประมาณ 3 เท่า

หากจะมองถึง “ข้อจำกัด” การใช้ “EV” ในปัจจุบัน สิ่งแรกที่อาจจะต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือ “จุดชาร์จไฟฟ้า”

ทุกวันนี้ที่ถึงแม้จะมี “จุดชาร์จไฟฟ้า” มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้เพียงพอหรือมากเท่ากับ “ปั๊มน้ำมัน” ที่สะดวกสบาย หาง่ายและคล่องตัวกว่า

อีกประเด็นคือ “ระยะเวลา” ในการชาร์จไฟฟ้า รวมถึงขนาดของ “แบตเตอรี” เก็บพลังงาน ที่ส่งผลต่อ “ระยะทาง” ในการใช้งาน หลังการชาร์จแต่ละครั้ง

หากจะมองในภาพรวมของเมืองไทยขณะนี้ “EV” จึงน่าจะเหมาะกับการเป็น “รถใช้ในเมือง” มากกว่าจะเป็น “รถทางไกล” หรือหากจะใช้วิ่งระยะทางไกล ๆ ก็จำเป็นต้อง “วางแผน” ล่วงหน้าดี ๆ

หากอยู่ในเมืองและเลือกใช้ “EV” ในชีวิตประจำวัน ก็สามารถพึ่งพา “จุดชาร์จไฟฟ้า” ตามสถานที่ต่าง ๆ หรือขับกลับมาชาร์จที่บ้านได้

ถ้าบอกว่า “EV” เป็น “ยานพาหนะแห่งอนาคต” ก็คงไม่ผิด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาไปสู่ “จุดที่เหมาะสม”

ที่สำคัญการใช้รถ EV ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการลด PM 2.5 และช่วยให้การขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานเติบโตเร็วขึ้น

คอลัมน์ : หลากมิติพลังงาน ผู้เขียน : เอก รอบทิศ
หัวเรื่อง : EV ยานพาหนะสู่อนาคต
เผยแพร่ : ศุกร์ 21 กรกฎาคม 2566

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน