แม้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ยังคงทยอยขยับขึ้นตามรอบการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายของไทย แต่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ของระบบแบงก์ไทยในไตรมาส 2/2566 อาจขยับขึ้นในกรอบจำกัด

โดยคาดว่า NIM จะปรับขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 2.96-3.00% ในไตรมาส 2/2566 เทียบกับ 2.91% ในไตรมาส 1/2566 เนื่องจาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่

1.สินเชื่อชะลอตัว เพราะมีแรงกดดันจากการชำระคืนสินเชื่อทั้งในส่วนของภาครัฐและธุรกิจ รวมถึงสัญญาณระมัดระวังความเสี่ยงด้านเครดิตในการปล่อยสินเชื่อใหม่ของทางฝั่งสถาบันการเงิน โดยคาดว่าสินเชื่อในไตรมาส 2/2566 อาจขยายตัวในกรอบ 0.5-0.8% YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่เติบโต 1.3% YoY ในไตรมาส 1/2566

2.แรงกดดันด้านต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายมีแนวโน้มขยับสูงขึ้น หลังจากที่มีการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน

ทั้งนี้ แม้จะยังคงประเมินว่ารายได้ค่าธรรมเนียมและบริการในไตรมาสที่ 2/2566 จะขยายตัวต่อเนื่องในกรอบ 3.5-5.0% YoY แต่ก็เป็นเพราะการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน และรายได้ค่าธรรมเนียมฯ มีโอกาสหดตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก

นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึงยังส่งผลกระทบต่อสถานการณ์รายได้และความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้บางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจและครัวเรือน รายย่อยที่มีรายรับไม่สม่ำเสมอ และกลุ่มลูกหนี้ที่เพิ่งออกจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน

อีกทั้งดอกเบี้ยที่ขยับสูงขึ้นอาจเพิ่มแรงกดดันต่อคุณภาพของสินเชื่อ ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์อาจตั้งสำรองฯ ในกรอบระมัดระวัง โดยคาดว่าสัดส่วนการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่ออาจอยู่ในกรอบ 1.22-1.28% ในไตรมาส 2/2566 ขยับขึ้นจากระดับ 1.22% ในไตรมาส 1/2566 ขณะที่ NPL ของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์อาจขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่กรอบ 2.68-2.72% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 2/2566 จาก 2.68% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 1/2566

สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2566 นั้น แม้ภาพรวมกำไรสุทธิของระบบแบงก์ไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 น่าจะทำได้ในกรอบประมาณ 1.19-1.21 แสนล้านบาท แต่การประคองผล การดำเนินงานท่ามกลางความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังคงเป็นโจทย์เฉพาะหน้าที่ยาก เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจยังคงขึ้นอยู่กับหลายตัวแปร

โดยเฉพาะปัจจัยทางการเมืองในประเทศและสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน