“โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ” ไม่ใช่เรื่องใหม่ จะเรียกว่าเป็นจุดบรรจบที่ลงตัวของ “การจัดการขยะ” และ “พลังงานทางเลือก” ที่ต่างก็เป็นประเด็นสำคัญระดับโลกก็ว่าได้

ในต่างประเทศ การเปลี่ยน “ขยะ” ให้เป็น “พลังงาน” ที่เรียกกันว่า “Waste to Energy” จำนวนไม่น้อย ประสบความสำเร็จ จนกลายเป็น “ต้นแบบ” ให้แก่ประเทศอื่นๆ

ตัวอย่าง “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ” ที่มักได้รับการหยิบยกขึ้นมาเสมอคือที่ “ประเทศสวีเดน” ซึ่งดำเนินการมาหลายสิบปี ด้วยการ “คัดแยกขยะ” ที่เริ่มต้นจาก “ครัวเรือน” ทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้ในขั้นตอนต่อไป

“การจัดการขยะ” มีทั้งการนำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการ “รีไซเคิล” การหมักขยะเศษอาหารเป็น “ก๊าซชีวมวล” และ “ปุ๋ย” รวมถึงการนำขยะราว 50% ไป “ผลิตพลังงาน” ทำให้เหลือขยะที่ต้อง “ฝังกลบ” ไม่ถึง 1%

แต่ที่ “สวีเดน” นั้น ถึงขนาดต้อง “นำเข้าขยะ” จากต่างประเทศ ด้วยสาเหตุที่ว่า ปริมาณขยะไม่เพียงพอต่อ กำลังการผลิตของ “เตาเผาขยะ”

ขณะที่ใน “ประเทศสเปน” มีการออก “กฎระเบียบ” และสร้าง “ความเข้าใจที่ถูกต้อง” ให้แก่ประชาชนในการ “คัดแยกขยะ” มีการจัดวางถังเก็บขยะ 7 ใบ 7 สี แยกตามประเภท ทิ้งขยะผิดประเภทลงถัง จะต้องจ่ายค่าปรับ

ทุกวันนี้ “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ” ใหญ่ที่สุด อยู่ “เมืองเสินเจิ้น” ประเทศจีน ส่วนใกล้ๆ ประเทศไทยนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศเวียดนามก็ประกาศสร้าง “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ” ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกที่ “กรุงฮานอย”

การมี “ต้นแบบ” ที่ประสบความสำเร็จด้าน “การจัดการขยะ” และ “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ” ทำให้หลายๆ ประเทศ พยายามใช้เป็นแนวทาง รวมถึง “ประเทศไทย”

หากแต่ต้องยอมรับกันตามจริงว่า “ภาพจำ” เกี่ยวกับ “โรงไฟฟ้า” ในอดีตของบ้านเรา ทำให้การต่อต้าน “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ” เกิดขึ้นในหลายพื้นที่

ยังไม่รวมถึงความหวาดกลัวต่อ กลิ่น ควัน ฝุ่นละออง และมลพิษ ที่อาจเกิดขึ้นจาก “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ” ซึ่งส่งผลต่อ “สุขภาวะ” ของผู้อยู่อาศัยในชุมชนใกล้เคียง

แน่นอนว่า “เทคโนโลยี” ที่พัฒนามากขึ้น ทำให้ “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ” มีความปลอดภัย ส่งผลกระทบต่อชุมชนน้อยลง และสามารถตั้งอยู่ไม่ไกลจากชุมชนได้

แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า เทคโนโลยีที่ทันสมัยของ “เตาเผาขยะ” เพื่อผลิต “พลังงาน” ในปัจจุบัน เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่คำตอบของ “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ” ที่ประสบความสำเร็จ

“พฤติกรรม” การคัดแยกขยะต่างหาก ที่เป็น “จุดเริ่มต้น” ซึ่งสำคัญที่สุดในเรื่อง “การจัดการขยะ” ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของ “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ”

จากข้อมูลของภาครัฐระบุว่า ปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศในปัจจุบัน มีอยู่ราว 27 ล้านตัน/วัน หรือเฉลี่ย 1.13 กิโลกรัม/คน/วัน

นี่เป็น “ข้อเท็จจริง” ที่เราน่าจะต้องหันหน้ามาปรึกษาหารือกันอย่างจริงจังว่า “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ” เป็นเพียงหนึ่งใน “พลังงานทางเลือก” ที่นำมา “จัดการขยะ” เท่านั้น แต่ไม่ใช่ “คำตอบ” ของ “ปัญหา” ทั้งหมด

ถ้าไม่มี “การคัดแยกขยะ” ที่ “ต้นทาง” แล้ว ต่อให้มี “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ” ทันสมัยแค่ไหน มากสักเท่าไร ก็คงไม่พอ…

คอลัมน์ : หลากมิติพลังงาน ผู้เขียน : เอก รอบทิศ
หัวเรื่อง : โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ
เผยแพร่ : ศุกร์ 4 สิงหาคม 2566

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน