เป้าหมายเพื่อ “ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน” ด้วยการลด “ราคาน้ำมันดีเซล” ให้ต่ำกว่า 30 บาท/ลิตร ผ่านมาตรการ “การลดภาษีน้ำมันดีเซล” 2.50 บาท/ลิตร

นโยบายนี้มีผลตั้งแต่ 20 ก.ย. – 31 ธ.ค. 66 ราว 3 เดือนเศษ

ต้องบอกว่าถือเป็นความกล้าของรัฐบาล เพราะตระหนักถึง “ความเดือดร้อน” ของพี่น้องประชาชน จนต้องตัดสินใจหาทาง “บรรเทา” ด้วยการ “ลดราคาน้ำมัน”

ประเทศไทยของเรามี “สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” หรือ “สกนช.” คนทั่วไปนิยมเรียกกันย่อ ๆ ว่า “กองทุนน้ำมัน” อยู่ใต้สังกัดของ “กระทรวงพลังงาน”

“กองทุนน้ำมัน” ตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์หลักคือ “รักษาเสถียรภาพ” ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ และป้องกันภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะในกรณีที่เกิด “วิกฤตการณ์”

รายรับของกองทุน ส่วนหนึ่งจัดเก็บจากประชาชนผู้ใช้น้ำมัน ซึ่งกำหนดอยู่ในโครงสร้างราคาน้ำมัน อีกส่วนหนึ่งมาจาก “ภาษีสรรพสามิต” ที่เรียกเก็บจาก “ผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ” และ “ภาษีศุลกากร” ที่เรียกเก็บจาก “ผู้นำเข้าน้ำมัน”

รวมถึงยังมาจาก “ผู้ค้าน้ำมัน” และ “ผู้รับสัมปทานที่ทำธุรกิจก๊าซ” ที่ต้องนำส่งเงินให้ “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ”

การรักษาเสถียรภาพ “ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง” จะทำให้ตัวเลข “ต้นทุน” ของผู้ใช้น้ำมันไม่เปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด ซึ่งจะส่งผลไปถึงสินค้าและบริการนั่นเอง

นั่นหมายถึงว่า ถ้า “ราคาน้ำมันในตลาดโลก” ลดลง ก็จะมีการเก็บเงินเข้า “กองทุนน้ำมัน”

แต่ถ้า “ราคาน้ำมันในตลาดโลก” เพิ่มสูงขึ้น “กองทุนน้ำมัน” ก็จะต้องใช้เงินกองทุนฯ เข้าไปชดเชย เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันที่สูงมากจนเกินไป

ถ้าเงินของ “กองทุนน้ำมัน” มีไม่พอ “รัฐบาล” ก็ต้องจัดสรรงบประมาณ หรือ “กู้เงิน” มาชดเชยเข้ากองทุน เพื่อให้สามารถ “ตรึงราคาน้ำมัน” ให้ประชาชนได้

“การลดราคาน้ำมัน” จึงถือเป็น “เรื่องดี” สำหรับประชาชนแน่นอน เพราะช่วย “ลดค่าครองชีพ” ทั้ง “ทางตรง” และ “ทางอ้อม” เพราะจะส่งผลไปถึงการลดราคาสินค้าและบริการได้ด้วย

นโยบายนี้ไม่ใช่เรื่องของ “ประชานิยม” เสียทีเดียว แต่ทำเพื่อ “บรรเทา” ความเดือดร้อนของประชาชน

แน่นอนว่ามีการ “จำกัดเวลา” ราว 3 เดือน นโยบายนี้จะมีไปจนถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น

สิ่งที่ประชาชนอย่างเรา ๆ น่าจะช่วยได้คือ ถึงแม้ “ราคาน้ำมันลดลง” แต่เราก็อย่าได้ตะบี้ตะบันใช้ เพราะเมื่อ “ต้นทุนลดลง” แปลว่ามี “ส่วนต่าง” ให้นำเงินไปใช้อย่างอื่นที่จำเป็น หรือเก็บไว้ “สำรองใช้”

เฉกเช่นเดียวกับการบริหารจัดการ “กองทุนน้ำมัน” ที่ต้อง “คิดเผื่อ” เมื่อเกิด “วิกฤตการณ์”

ถ้าจะบอกว่า “การลดการใช้พลังงาน” ในทุก ๆ มิติ ไม่ใช่แค่เพียง “น้ำมัน” อย่างเดียว เพื่อช่วยลด “การนำเข้าพลังงาน” ของประเทศในภาพรวม เป็นทางออกที่น่าจะดีที่สุดก็คงไม่ผิด

“ใช้น้อยลง” หรือ “ใช้ตามความจำเป็นจริง ๆ” ท้ายสุดก็เป็นการ “ประหยัดเงิน” ในกระเป๋าเราเอง

คอลัมน์ : หลากมิติพลังงาน ผู้เขียน : เอก รอบทิศ
หัวเรื่อง : ลดราคาน้ำมันไม่ใช่ทางออกสุดท้าย
เผยแพร่ : ศุกร์ 29 กันยายน 2566

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน